ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจง ไม่เคยคิดและไม่มีทางทำลาย “หอศิลป์” แต่ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมประกาศ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไป
วันนี้ (14 พ.ค. 61 ) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน” ชี้แจง กรณี นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ระบุ กทม.จะบริหาร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เอง จนเกิดกระแสคัดค้าน
โดย พล.ต.อ.อัศวิน ได้ยกคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย) ที่ว่า “Ars longa vita brevis ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ขึ้นเกริ่น และว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีพื้นที่สาธารณะปราศจากการแทรกแซง เพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์ ไม่ว่าจะใช้เพื่อการแสดงออก เพื่อศึกษาหรือร่วมแบ่งปันงานศิลป์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในจุดสำคัญของประเทศที่ใช้ในการทำกิจกรรมเหล่านี้
พร้อมยืนยันว่า กทม.ไม่เคยคิด และไม่มีทางที่จะทำลาย สถานที่แสดงศิลปะ และวัฒนธรรมของประเทศ เพียงแต่ต้องการพัฒนา หอศิลป์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะปัจจุบันพื้นที่บางส่วนของหอศิลป์ ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์
“เราต้องการนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ หนึ่งในแนวทางที่อยากจะปรับปรุงก็คือ การนำพื้นที่เหล่านั้นมาปรับเป็นให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนได้เข้ามาใช้ สร้างสรรค์งานศิลป์ ทำงาน พบปะ และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือที่เรียกกันว่า co-working space ในส่วนนิทรรศการก็ยังจะต้องใช้เพื่อแสดงงานศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเดิม
แต่การที่กทม.จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้น อาจติดด้วยระเบียบและกฎหมายการมอบกิจการให้มูลนิธิ กทม.จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่เหล่านั้น เพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และดึงดูดให้ประชาชนสนใจงานศิลป์มากขึ้น สำหรับแนวทางการพัฒนานั้นอาจมีการดึงผู้ที่เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ มาช่วยพัฒนา”
พล.ต.อ.อัศวิน ทิ้งท้ายด้วยว่า สุดท้ายนี้ไม่ว่าผลสรุป จากกทม.และคณะกรรมการหอศิลป์จะเป็นไปในแนวทางใด ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปพัฒนาในพื้นดังกล่าว
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Bangkok Art and Culture Centre หรือ หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ตั้งอยู่ที่สี่แยกปทุมวัน (ที่ดินของกทม.) ตรงข้ามห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK) สมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้ผลักดันจน กทม.มีนโยบายจะสร้างหอศิลป์ แต่มาเริ่มก่อสร้างโดยใช้งบประมาณของสภาแห่งกรุงเทพมหานคร จำนวน 509 ล้านบาท ในสมัย ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ปี 2548 โดยแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน เมื่อ พ.ศ.2551
ขอบคุณภาพ FB : ผู้ว่าฯ อัศวิน / Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร