ฟุตบอลโลก (World Cup 2018) ที่รัสเซีย กำลังจะรูดม่านปิดฉากลงในวันอาทิตย์ที่ 15 ก.ค.นี้ โดยคู่ชิงชนะเลิศเป็นการโคจรมาเจอกันระหว่าง 2 ทีมจากยุโรป ตราไก่ฝรั่งเศส และทีมตราหมากรุกโครเอเชีย
ตลอดหนึ่งเดือนเต็มของการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกทั้ง 64 แมตซ์ มีผู้ชมกว่า 3,400 ล้านคนหรือครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วทั้งโลกติดตามชมการถ่ายทอด ยืนยันได้ว่าฟุตบอลโลกยังเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติไม่ว่าจะวัดจากจำนวนของผู้ชม หรือวัดจากผลเศรษฐกิจโดยเฉพาะเจ้าภาพรัสเซียที่แม้ไม่ได้เข้าชิงชนะเลิศแต่ก็ได้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนี้ไม่น้อย
รัสเซียทุ่ม 4.6 แสนล้านบาทจัด World Cup 2018
แม้จะไม่ได้เข้าชิงฟุตบอลโลกแต่รัสเซียที่ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายในการแข่งขัน ก็ได้เสียงชื่นชมจากการเป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลกครั้งนี้ไม่น้อย ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2010 ฟีฟ่าประกาศให้รัสเซียได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 โดยรัสเซียได้รับเสียงโหวตเหนือคู่แข่งจากยุโรปที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพได้แก่ อังกฤษ และ 4 ประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมได้แก่ เบลเยี่ยม – เนเธอแลนด์ และโปรตุเกส – สเปน
รัสเซียมีเวลาในการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพ 8 ปี ซึ่งรัฐบาลได้มีการเตรียมงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ แม้หลายปีก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นรัสเซียจะเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจทั้งค่าเงินรูเบิล (RUB) ที่ตกต่ำ ราคาน้ำมันและก๊าซซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซียปรับตัวลดลง แต่รัฐบาลรัสเซียก็ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากถึง 14,200 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 468,600 ล้านบาท เพื่อทำให้การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของประเทศรัสเซียและฟุตบอลโลกครั้งแรกในเอเชียตะวันออกออกมาสู่สายตาชาวโลกอย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด
เว็บไซด์ webuildvalue.com ระบุว่างบประมาณกว่า 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์ฯที่รัสเซียใช้ในการลงทุนไปกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ใช้เป็นงบประมาณในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งโดยตั้งงบประมาณไว้ 6,100 ล้านดอลลาร์ฯ (2.01 แสนล้านบาท) ซึ่งรวมไปถึงการปรับปรุงสนามบิน 2 แห่ง การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในสนามบิน Kurumoch International Airport การปรับปรุงถนนและทางด่วนใน 11 เมือง ระยะทางรวมกว่า 500 กิโลเมตร
งบประมาณในการก่อสร้างสนามฟุตบอลและปรับปรุงความพร้อมของสนามฟุตบอลรวม 3,400 ล้านดอลลาร์ (1.12 แสนล้านบาท) โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันของรัสเซียได้มีการเตรียมการในการสร้างสนามฟุตบอลใหม่ 9 แห่ง รวมกับสนามที่มีอยู่เดิม 7 แห่ง โดยมีสนามที่มีความจุมากที่สุดคือ Luzhniki Stadium ความจุ 81,000 ที่นั่ง และสนามที่เล็กที่สุดคือสนาม Kaliningrad Stadium 35,212 ที่นั่ง
ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเบื้องหลังเจ้าภาพฟุตบอลโลก
นายอาร์คาดี้ ดวอคอวิช อดีตรองนายกรัฐมนตรีของรัสเซียและนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังได้กล่าวสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของรัสเซียในครั้งนี้ว่า การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของผลที่มีต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของรัสเซียในระยะยาว
ESPN สถานีโทรทัศน์กีฬาชื่อดังของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าการจัดมหกรรมฟุตบอลโลกที่รัสเซียจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของรัสเซียระหว่างปี 2013 – 2023 คือเศรษฐกิจจะขยายตัวตั้งแต่ปีแรกที่รัสเซียเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและก่อสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ โดยจีดีพีรัสเซียในช่วง 10 ปีจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 26,000 – 30,800 หมื่นล้านดอลลาร์ฯในระหว่างปี 2013 – 2023 จากการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก และช่วยเพิ่มการจ้างงานได้กว่า 2.2 แสนตำแหน่ง
นอกจากนั้น การเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรรัสเซียให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับประชากรยุโรปคือเพิ่มจาก 10,608 ดอลลาร์ฯต่อคนต่อปี มาอยู่ที่ 16,650 ดอลลาร์ฯต่อคนต่อปีหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 ดอลลาร์ฯ หรือให้คนรัสเซียมีเงินเพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน
หากดูผลตอบแทนระยะสั้นที่รัสเซียจะได้รับทันทีในปี 2018 ก็คือการหลั่งไหลเข้ามาของแฟนบอลและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาชมฟุตบอลถึงขอบสนาม ฟีฟ่าเปิดเผยว่าสัดส่วนตั๋วฟุตบอลโลกที่จำหน่ายไปแล้วส่วนใหญ่ได้ขายให้เจ้าภาพรัสเซีย 8.7 แสนใบ สหรัฐฯ 88,000 หมื่นใบ และบราซิล 72,000 ใบ
โดยมีการประมาณการว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลกถึง 5.7 แสนคน ขณะที่คนรัสเซียกว่า 7 แสนคนก็จะเดินทางไปท่องเที่ยวและเข้าชมฟุตบอลในเมืองต่างๆ ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวในรัสเซียไม่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่อย่างมอสโก หรือเซนต์ปีเตอร์เบิร์กเท่านั้น โดยทางการรัสเซียคาดว่าแม้ฟุตบอลโลกจะจบลงแต่การท่องเที่ยวในรัสเซียจะขยายตัวต่อเนื่องปีละ 4%ไปจนถึงปี 2022
ซึ่งที่ผ่านมารัสเซียเคยประสบความสำเร็จในการใช้กีฬานำการท่องเที่ยวมาแล้วในคราวที่จัดมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองโซชิ (Sochi) ซึ่งครั้งนั้นรัสเซียลงทุนงบประมาณไปประมาณ 1.65 แสนล้านบาท เพื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 และทำให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทางตอนใต้ของรัสเซีย
ส่วนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ในรัสเซียก็ถือเป็นประโยชน์แก่คนรัสเซียเอง เพราะรัสเซียขึ้นชื่อด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางที่ไม่สู้ดีนัก เพราะขาดการบำรุงรักษาซ่อมแซมมานาน โดยการจัดอันดับของ World Economic Forum (WEF) จัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานของรัสเซียไว้ที่ 93 จาก 148 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเรื่องนี้วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียก็เคยประกาศแผนลงทุนเพื่อปรับปรุงถนนและโครงสร้างพื้นฐานในรัสเซียในวงเงินกว่า 1.93 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งการปรับปรุงถนน สะพาน ทางด่วน บางส่วนในช่วงที่มีการจัดมหกรรมฟุตบอลโลก ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการใช้เงินจำนวนดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ฟีฟ่าอัดฉีดเงินรางวัลมหาศาลทีมแชมป์ได้ 1,200 ล้าน
นอกจากการลงทุนมหาศาลของเจ้าภาพฟุตบอลโลกอย่างรัสเซีย ฟุตบอลโลกครั้งนี้ยังถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นฟุตบอลโลกที่ตั้งเงินรางวัลกับทีมผู้ชนะและทีมที่เข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา ซึ่งในปีนั้นเงินรางวัลรวมของการแข่งขันเพิ่งจะอยู่ที่ 20 ล้านดอลลาร์ฯหรือประมาณ 660 ล้านบาทเท่านั้น แต่เงินรางวัลในปี 2018 สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกรวมกันอยู่ที่ 791 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 26,103 ล้านบาทเลยทีเดียวซึ่งเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นก็มาจากลิขสิทธิ์ออกอากาศ และเงินจากบริษัทเอกชนรายใหญ่ของโลกที่เข้ามาสนับสนุนการแข่งขัน
โดยประเทศที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกจะได้เงินรางวัลไปถึง 38 ล้านดอลลาร์ฯ (1,254 ล้านบาท) ส่วนทีมที่ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศจะได้เงินรางวัล 29 ล้านดอลลาร์ฯ (957 ล้านบาท) ส่วนทีมที่คว้าอันดับ 3 จะได้เงินรางวัล 24 ล้านดอลลาร์ฯ (792 ล้านบาท)
ส่วนเงินรางวัลที่เหลืออีก 400 ล้านดอลลาร์ฯ จะแบ่งให้กับทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันในรอบสุดท้าย ตามรอบการแข่งขันที่ทีมชาติต่างๆจะสามารถผ่านเข้ารอบได้โดยทีมที่เข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายก็จะได้เงินรางวัล 24 ล้านดอลลาร์เศษ ส่วนทีมที่ผ่านรอบแรกไปได้ถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายก็จะได้เงินรางวัลเป็นขวัญถุงทีมละ 8 ล้านดอลลาร์ฯหรือประมาณ 264 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นเงินรางวัลอัดฉีดจากฟีฟ่าที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
แม้เกมส์ฟุตบอลระดับโลกทุกวันนี้จะเต็มไปด้วยเหตุผลทางธุรกิจ และเงินรางวัลมหาศาล แต่ศักดิ์ศรีและเกียรติยศของนักฟุตบอลในการรับใช้ชาติในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ ท่ามกลางสายตาทั่วโลกที่จับตามองอยู่อาจสำคัญสำหรับนักกีฬามากกว่าเงินรางวัลที่จะได้รับภายหลังการแข่งขัน
เช่นเดียวกับชาติที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก ชื่อเสียงของการเป็นเจ้าภาพที่ดี จัดการแข่งขันได้อย่างมีมาตรฐาน เป็นที่ประทับใจของนักกีฬา สตาร์ฟโค้ช และผู้ชมจากทั่วโลกจะสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศเจ้าภาพได้อย่างยั่งยืน และอาจมีค่ามากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ นับเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของชาติเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลก” ในการจัดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
บทความโดย : รุจน์ รฐนนท์
แหล่งข้อมูล
–https://www.weforum.org/agenda/2018/06/world-cup-football-smart-investment-russia-host/
–https://aspioneer.com/the-hidden-costs-of-the-world-cup-an-aspioneer-analysis/
– http://www.stadiumguide.com/tournaments/fifa-world-cup-2018/