
Photo by Avel Chuklanov on Unsplash
วันนี้เป็นวันแรกที่ที่ธุรกิจสถาบันการศึกษาจะเข้าทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรกท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่มองว่าแม้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ต้องคำนึงถึงจริยธรรมและเจตนารมณ์การจัดการศึกษาด้วย
วันนี้ (29พ.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึง กรณีที่บริษัทเอกชนเป็นผู้รับใบอนุญาตในการจัดตั้ง ร.ร.นานาชาติ จดทะเบียนและเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันนี้เป็นวันแรกว่า ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่จะพิจารณาเฉพาะกฎหมายไม่ได้ ต้องดูเรื่องจริยธรรมด้วย
ดังนั้น จึงมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะมองว่าถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่นำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น แต่ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่
โดยขอให้สมาคมโรงเรียนนานาชาติไปพูดคุยและหาทางออก เพราะเรื่องนี้ถือเป็นการแสดงเจตจำนงว่าต้องการผลกำไร นอกจากนี้ ยังให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน หรือ สช. ประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ว่าต้องดำเนินการอย่างไร

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
“ขณะนี้ได้มีการหารือกับทางสมาคมโรงเรียนนานาชาติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขอให้ทางสมาคมดำเนินการพูดคุยและหาแนวทางในเรื่องดังกล่าว เพราะถ้ามองในส่วนรัฐบาล ถ้าเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นถือเป็นการแสดงเจตจำนงว่าต้องการผลกำไร และหากต้องการผลกำไรมากๆ ถ้าทำแบบนี้กระทรวงการคลังต้องเก็บภาษีหรือไม่ และจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง อีกทั้งต้องทบทวนว่ากฎหมายดังกล่าว ตีความถูกต้องหรือไม่ เพราะต่อให้กฎหมายอาจจะถูก แต่อาจจะไม่ถูกจริยธรรม ตรงตามเจตนารมณ์ในการจัดการศึกษาของประเทศ ดังนั้น จะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) ว่าต้องดำเนินการอย่างไร”
ด้าน นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ได้ประสานกับ กลต.แล้วทราบว่า บริษัทมีการประกาศขายและมีผู้ติดต่อซื้อแล้ว ซึ่งในวันนี้ จะมีประกาศขึ้นกระดานเพื่อซื้อขายหุ้นอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ การที่บริษัทดังกล่าวเข้าตลาดหลักทรัพย์ถือว่าไม่ผิดกฎหมายของ สช.
- นักวิชาการแนะ “การศึกษา” อาจกลายเป็น “สินค้า”
ขณะที่ ศาสตราจารย์สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรงเรียนสามารถเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ แต่หากมองเรื่องความเหมาะสมอาจจะต้องพิจารณาให้รอบคอบกว่านี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหารือร่วมกันเพื่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย เพราะกรณีนี้หากนำเข้าตลาดหุ้นก็อาจจะเกิดปรากฎการณ์เกี่ยวกับการศึกษาที่เปลี่ยนไป ทำให้เรื่องการศึกษากลายเป็นเรื่องสินค้า บริการ การลงทุนและผลตอบแทนที่จะได้รับมากกว่าจะมองเป็นเรื่องของพัฒนาการเด็ก
ขณะเดียวกันยังมองว่าการนำโรงเรียนนานาชาติเข้าตลาดหุ้น ควรจะตระหนักเรื่องความเป็นไทย จริยธรรม และเรื่องความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และจะเป็นทางเลือกของชนชั้นกลางที่มีฐานะและชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ยังมองว่าจะมีผลทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นหุ้นการศึกษา ส่วนโรงเรียนก็จะเน้นเรื่องการขยายสาขาเพิ่ม โดยเฉพาะหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ
“โรงเรียนทั่วไปจะไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้ จนอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันเหลื่อมล้ำอยู่ 20 เท่า ในอนาคตอาจมากขึ้นเป็น 25-30 เท่า”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: