ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยแล้ว ปัจจุบันเรามีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 11 ล้านคน หรือเกือบๆ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยทุกวันนี้อยู่ที่ 75 ปี และมีแนวโน้มว่าเราจะอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่ออายุมากขึ้นสภาพร่างกายก็เสื่อมโทรมลง โรคภัยย่อมตามมา ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อภาวะพึ่งพิง
รายงานคาดการณ์ประชากรของประเทศไทยตามกลุ่มวัยต่างๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินว่าในปี 2562 ไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ประมาณ 12.1 ล้านคน หรือเท่ากับ 18% ของประชากรทั้งประเทศ โดยที่จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.6 ล้านคน (19%), 13.1 ล้านคน (20%) และ 13.6 ล้านคน (21%) ในปี 2563, 2564, 2565 ตามลำดับ จำนวนผู้สูงอายุของไทยกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี
เมื่ออายุมากขึ้นสภาพร่างกายย่อมเสื่อมโทรมลง ข้อมูลจากสำนักสารสนเทศและประเมินผลลัพธ์สุขภาพ สปสช. พบว่าคนอายุ 60-69 ปี มีอัตราเข้าใช้บริการด้านสาธารณสุขปีละ 7.31 ครั้ง/คน สำหรับผู้ป่วยนอก และ 0.19 ครั้ง/คน สำหรับผู้ป่วยใน ส่วนคนอายุ 70 ปีขึ้นไป มีมีอัตราเข้าใช้บริการปีละ 7.62 ครั้ง/คน สำหรับผู้ป่วยนอก และ 0.29 ครั้ง/คน สำหรับผู้ป่วยใน
ขณะที่คนหนุ่มสาวอายุ 15-59 ปี มีอัตราเข้าใช้บริการปีละ 3.05 ครั้ง/คน สำหรับผู้ป่วยนอก และ 0.09 ครั้ง/คน สำหรับผู้ป่วยใน จึงจะเห็นว่าผู้สูงอายุมีอัตราเข้าใช้บริการด้านสาธารณสุขมากกว่าคนหนุ่มสาว 1 เท่าตัว

นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้สูงอายุไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นประมาณ 8% จากปี 2545 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพียง 8.3% กลายเป็น 16.5% ในปี 2560 และป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 13% จากปี 2545 มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 20% กลายเป็น 33.6% ในปี 2560 ดังนั้นจากตัวเลขทั้งหมดที่กล่าวมา หากเรายังไม่ดูแลรักษาสุขภาพกันก่อนแก่ ก็มีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสู่วัยที่ไม่แข็งแรงด้วย