ส.ก.จอมทอง เรียกร้อง กทม.ตรวจอาคารสูง แนะกระจายอำนาจให้เขตดูแล
ส.ก.จอมทอง เรียกร้อง กทม.ตรวจอาคารสูง แนะกระจายอำนาจให้เขตดูแล

ส.ก.จอมทอง เรียกร้อง กทม.ตรวจสอบอาคารสูงทั่วเมืองหลวง แนะกระจายอำนาจให้สำนักงานเขตดูแล พร้อมออกมาตรการรับรองความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว
(3 เม.ย.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 2 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2568 ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง วานนี้ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตจอมทอง ได้ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อสอบถามถึงมาตรการรับมือแผ่นดินไหว และความแข็งแรงของอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร
โดยนายสุทธิชัย ระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในอาคารสูง ซึ่งหลายแห่งเริ่มปรากฏรอยร้าวและแตกร้าวในโครงสร้าง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่คาดคิดว่าแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 ซึ่งยังไม่มีข้อบังคับด้านมาตรฐานต้านแผ่นดินไหว
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ นายสุทธิชัยเสนอให้ กทม.มอบหมายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต มีอำนาจในการตรวจสอบอาคารสูงภายในพื้นที่ของตน โดยให้ผู้ว่าฯ กทม.เชิญผู้ประกอบการและวิศวกรที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมพูดคุยและดำเนินการตรวจสอบอาคาร เพื่อให้สามารถรับรองความปลอดภัยของอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ส่วนนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของอาคารในการรองรับน้ำหนักรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้น โดยระบุว่า น้ำหนักรถ EV มากกว่ารถทั่วไปประมาณ 300-500 กก. หากมีการจอดเพิ่มขึ้นในอาคารต่างๆ อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของโครงสร้าง โดยเฉพาะหากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำขึ้นมาอีก
ด้านนายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.บึงกุ่ม อภิปรายขอบคุณทีมงานผู้ว่าฯ กทม., โรงพยาบาล และคณะทำงานหน้างาน ที่ทำงานได้อย่างดีและแข็งขัน อย่างไรก็ตาม ต้องเพิ่มวิชาเรียนเรื่องการเอาตัวรอดในเหตุการณ์แผ่นดินไหวสักหนึ่งคาบเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.และศูนย์เด็กเล็ก
นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.บางกอกใหญ่ ชี้ถึงปัญหาปฏิบัติว่า วิศวกรระดับ 3-4 ยังไม่ถึงวุฒิวิศวกร ไปเซ็นรับรองอาคารตามคำสั่งของบริหารได้หรือไม่? นอกจากนี้ พ.ร.บ.อาคารสูง กำหนดในตรวจสอบความแข็งแรงอาคารสูงทุกปีด้วย
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า จากการร้องเรียนใน Traffy Fondue พบว่ารอยแตกร้าวในอาคารที่เป็นรอยผนัง ยังไม่ถือว่าอันตรายถือเป็นกลุ่มสีเขียว ส่วนกลุ่มสีเหลืองเป็นกลุ่มที่มีรอยแตกร้าวแต่ยังไม่เร่งด่วน และได้ส่งคนไปตรวจแล้ว โดยได้สภาวิศวกรอาสามาช่วย และถ้าเป็นสีแดงคือรอยแตกร้าวอันตราย ก็ได้สั่งปิดใช้อาคาร 3 อาคาร
ขณะที่ นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.ดอนเมือง ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณางบประมาณ ปี 2568 ชี้แจงว่า สภาฯ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชน แต่คลิปในการพิจารณางบประมาณโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหว ในอาคารสูงสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่ถูกเอาไปตัดต่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งในบันทึกของคณะอนุกรรมการวิสามัญโยธาฯ ขอชี้แจงว่า เนื้อหาโครงการขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และไม่ได้อธิบายว่าจะนำผลประเมินมาใช้อย่างไร ในเชิงนโยบายและการปฏิบัติงาน คณะอนุกรรมการฯ จึงเกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์อะไร
นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.มีนบุรี กล่าวว่า การเข้าตรวจสอบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารควรทำเป็นประจำและมีการส่งรายงานการดำเนินการ โดยตนเห็นว่า ควรจะมีเครื่องมือที่เข้ามาตรวจสอบอาคารได้ด้วยและต้องเป็นเครื่องมือที่น่าเชื่อถือ ซึ่งในปัจจุบันเครื่องมือที่มีอยู่ต้องใช้การวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ถ้าหากมีเครื่องมือที่สามารถแปลผลได้เลยก็ควรจะทำการจัดซื้อเพื่อมาใช้งาน
ซึ่ง รศ.วิศณุ รองผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า การที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ ก็เพื่อให้คำแนะนำในการซ่อมแซมอาคารหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ส่วนการทำงานของเครื่องมือนั้น หากมีการอ่านค่าแล้วไม่จำเป็นต้องใช้คนแล้ว เนื่องจากต้องมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องอาคารไปวิเคราะห์โครงสร้างอาคารก่อน แล้วจึงใส่เครื่องมือเข้าไปช่วยวัดการสั่นสะเทือนอีกครั้ง - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
