นายจ้างหวั่นค่าแรง 400 กระทบ - ชี้ควรทำเศรษฐกิจให้ดีก่อน

นายจ้างหวั่นค่าแรง 400 กระทบ - ชี้ควรทำเศรษฐกิจให้ดีก่อน

11720 ก.ย. 67 10:51   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ผู้ประกอบการร้านอาหารหวั่นหากค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 400 บาท จะกระทบ รัฐควรดูเป็นกิจการไปว่าควรขึ้นเท่าไหร่ พร้อมแนะก่อนขึ้นค่าแรงต้องทำเศรษฐกิจให้ดีก่อน

(20 ก.ย. 67) ยังคงมีกระแสต้านจากฝั่งผู้ประกอบการออกมาเรื่อยๆ กับนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ โดยฝั่งนายจ้างมองว่าการขึ้นค่าแรงเช่นนี้กระทบกับกิจการมาก โดยเฉพาะกับกิจการขนาดเล็ก


นางจันทิมา มุณีกุล ผู้ประกอบการร้านอาหาร “สีฟ้า” ในเขตเทศบาลนครตรัง จ.ตรัง กล่าวว่าขอรัฐอย่าปรับขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดวันละ 400 บาท และแบบเทกระจาดให้เท่ากันทุกธุรกิจ แต่รัฐควรดูเป็นกิจการๆ ไป โดยเฉพาะธุรกิจประกอบการร้านอาหารนั้นระบบการให้ค่าจ้างจะต้องมีการทดสอบฝีมือแรงงานก่อนจะให้ทันทีวันละ 400 บาทไม่ได้ บางคนมายังไม่มีฝีมือ ก็ต้องเริ่มต้นจากฐานประสบการณ์ของแรงงานคนนั้นก่อน



และควรดูว่าธุรกิจนั้นๆ มีเงินหมุนเวียนมากน้อยแค่ไหน ถ้ารายได้เยอะผู้ประกอบการก็สามารถที่จะจ่ายได้ แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องของภาวะเศรษฐกิจรายได้ไม่สมดุลกับต้นทุนผู้ประกอบการก็ไม่สามารถจะรับได้ รัฐบาลต้องเข้าใจในระบบธุรกิจนั้นๆ ด้วย ผู้ประกอบการก็ต้องวิเคราะห์ว่าสามารถที่จะรับได้ไหม แต่เชื่อว่าวันละ 400 บาท หนักเกินไปสำหรับผู้ประกอบการ เพราะแรงงานนั้นจะมีทั้งอาหารวันละ 2-3 มื้อให้อยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการดูแลลูกจ้างอยู่แล้ว หากยังจะขึ้นกระทบอย่างมากแน่นอน ตนคิดว่ารัฐควรจะดูแลเรื่องราคาสินค้า ค่าครองชีพช่วยประชาชนดีกว่า ดูแลให้ทุกครัวเรือน ทุกอาชีพมีรายได้ มีสวัสดิการต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อลดภาระของประชาชน



ขณะที่นายจีระศักดิ์ คาระวิวัฒนา เจ้าของร้าน ดาดสเต็กจิ้มก๊ะแจ่ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวันนี้ ตนคิดว่าจะสร้างผลกระทบให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างในการแบกต้นทุน เนื่องจากตอนนี้สภาวะเศรษฐกิจไม่ดีวัตถุดิบทุกอย่างก็ขึ้นราคาเป็นว่าเล่นทั้งเนื้อสัตว์ ผัก เครื่องปรุง นั้นขึ้นราคาแทบทุก


ซึ่งถ้าหากขึ้นค่าแรงจริงๆ ทางร้านเองก็ต้องขึ้นราคาค่าอาหาร ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคไม่ออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารลำบากขึ้นไปอีก



ตนมองว่าการขึ้นค่าแรงให้กับแรงงานนั้นเป็นนโยบายที่ดีแต่มันสวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ซึ่งทางที่ดีนั้นรัฐบาลควรเลื่อนนโยบายขึ้นค่าแรงออกไปก่อนและเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหน้ากับประชาชนในที่ไม่สามารถดำเนินนโยบายขึ้นค่าแรงตามที่หาเสียงเอาไว้



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง