"โรม"ปธ.กมธ.มั่นคงฯ เชิญ รมว.ต่างประเทศ ติดตามความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา
"โรม"ปธ.กมธ.มั่นคงฯ เชิญ รมว.ต่างประเทศ ติดตามความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา

"โรม"ปธ.กมธ.มั่นคงฯ เชิญ นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รมว.ต่างประเทศ ติดตามความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา โดยมีการถกกัน 2 ประเด็น
(26มิ.ย.68) ที่ รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมที่จะมีการพิจารณาติดตามกรณีความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทย กัมพูชาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ และเส้นเขตแดน โดยเชิญ นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุม
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จะพูดคุยกัน 2 ประเด็น ประเด็นแรก เป็นเรื่องการเตรียมความพร้อม และดูว่า กัมพูชามีความก้าวหน้าในการพาไทยไป สู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) อย่างไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกฎหมายอย่างเดียว แต่มีเรื่องเกมทางการเมืองด้วย รวมถึงความพร้อมของกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนประเด็นที่ 2 ตนเชิญนักวิชาการมาด้วย เช่น นายภัทรพงษ์ แสงไกร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงนักวิชาการคนอื่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และประวัติศาสตร์ เราก็หวังว่า จะเป็นประโยชน์กับกระทรวงการต่างประเทศ สิ่งที่กมธ.มั่นคงฯพยายามทำ คือต้องการบรรลุเป้าหมายแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาด้วยวิธีการทวิภาคี หากไปขึ้นศาลโลกจริงไม่มีใครชนะแท้จริง และไม่มีใครแพ้แท้จริง ทั้ง 2 ประเทศต้องตั้งอยู่ตรงนี้ร่วมกัน เราไม่อยากให้เป็นบาดแผล ไม่อยากให้คนไทยและคนกัมพูชาขัดแย้งกัน สถานการณ์วันนี้เกิดขึ้นจากคนกี่คน เราก็จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้กลไกทวิภาคีเป็นไปได้ ซึ่งต้องยอมรับว่า ณ จุดนี้ยังไม่ง่าย
เมื่อถามว่า สิ่งที่ยั่วยุปลุกปั่นอยู่ในขณะนี้ เป็นกระบวนการที่กัมพูชาพยายาม ไม่ให้จบที่ทวิภาคีแล้วลากไทยไปศาลโลกใช่หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กัมพูชาอาจจะไม่อยากเข้าสู่กลไกทวิภาคี เขาอยากจะใช้กลไกศาลโลก แต่ความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ที่ไทย และกัมพูชาไปถึงจุดที่ไม่สามารถคุยกันได้ เรายังสามารถหาแนวทางในการสร้างกลไกทวิภาคีได้
“ทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาลกัมพูชา ต้องพึงตระหนักว่าประเทศ ทั้ง 2 ประเทศต้องตั้งอยู่ตรงนี้ พวกเราผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เราไม่ควรที่จะทิ้งบาดแผลระหว่าง 2 ประเทศ ควรหาแนวทางอยู่ร่วมกันและแก้ปัญหา วันนี้เราจึงต้องคุยกับกระทรวงการต่างประเทศ อยากคุยกับท่านมาริษ แต่ท่านมาริษก็เป็นแบบนี้ประจำ ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับกมธ. และคิดว่า ตัวเองสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ แต่ในความเป็นจริงอย่างที่เห็น กระทรวงการต่างประเทศไม่ประสบความสำเร็จในการทูตเลย” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า หากกัมพูชาไม่อยากเจรจาทวิภาคี คำแนะนำเบื้องต้นคือเราต้องทำงานทางการทูตกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศฝรั่งเศสที่กัมพูชาพยายามทำทุกวิถีทางให้ได้เจรจากับฝรั่งเศสและทั่วโลก เราต้องทำเพื่อให้เห็นว่ากัมพูชาไม่มีความจริงใจ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยต้องทำงานหนักทางการทูตมากกว่านี้
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการที่สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ออกมาระบุว่าประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ภายใน 3 เดือน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราต้องรู้เท่าทันความพยายามของสมเด็จฮุน เซน มันคือสงครามจิตวิทยา เพราะคนไทยก็จะอ่านและติดตาม ตนคิดว่า อย่าไปสนใจเยอะ แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย ตนคิดว่า ประเทศไทยมีกลไกในการตรวจสอบรัฐบาลมากมาย และยืนยันว่า สิ่งที่ปรากฏในคลิปเสียงสมเด็จฮุน เซน สนทนากับน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่แย่มาก ตนเล็งว่า จะบรรจุเรื่องนี้ในกมธ.ด้วย รอกำหนดวันพิจารณา รวมถึงคลิปเสียงที่มีการสั่งให้ฆาตกรรมนักการเมืองกัมพูชาด้วย ยืนยันว่า ไม่ล่าช้าแน่นอน
“การแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย วันนี้เราต้องยืนยันว่าจะไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น รัฐบาลไทยก็จะต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น กลไกการตรวจสอบของเรา เมื่อมีคลิปเสียงปรากฏ ดูราวกับว่า นายกรัฐมนตรีถือเอาประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม เราก็ปล่อยไว้ไม่ได้เช่นกัน กลไกการตรวจสอบภายในต้องทำงาน” นายรังสิมันต์ กล่าว
เมื่อถามว่า มองเรื่องการควบคุมด่าน ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนคิดว่ายังขาดรายละเอียดในการจัดการผลกระทบ เช่น มีบริษัทไทยและสัญชาติอื่นๆไปลงทุนในกัมพูชาเพราะค่าแรงถูกกว่า มีจำนวนแรงงานมาก ซึ่งต้องส่งวัตถุดิบต่างๆ มายังประเทศไทย ถ้าเราไม่มีการรองรับผลกระทบที่ตามมา โรงงานเหล่านี้อาจจะย้ายไปประเทศอื่น สุดท้ายจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย จึงอยากเรียกร้องไปถึงนายกรัฐมนตรีว่า คิดให้รอบคอบหากมีมาตรการใดก็แล้วแต่ตามชายแดน ส่วนที่จะมีการประท้วงของฝั่งกัมพูชา เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว แต่เราต้องมีมาตรการในการรับมือ
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ตนยังสงสัยเรื่องการตัดน้ำ ตัดไฟว่ามีการตัดทุกจุดหรือไม่ คงต้องซักถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่ตัด รวมถึงเรื่องอินเทอร์เน็ตและน้ำมันด้วย เราต้องสอบถามว่าเกิดอะไรและแนวทางของรัฐบาลเป็นอย่างไร สัมพันธ์กับแก๊งคอลเซนเตอร์อย่างไร
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องคือ 1.อาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งการปราบปรามคอลเซ็นเตอร์เป็นภารกิจที่ต้องทำไม่ใช่เกมต่อรองกับกัมพูชา เพราะหากประเทศของเขาไม่ต้องพึ่งพาธุรกิจเทา - ดำเนินการเจรจาก็จะง่ายขึ้น ดังนั้นนายมาริษ ต้องรีบไปพูดคุยกับสหรัฐอเมริกา ที่พร้อมให้ความร่วมมือกับไทย
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า 2.เรื่องการทูต ที่ไทยต้องทำงานหนักกว่านี้ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ ว่ากัมพูชาพยายามจุดไฟเพื่อสร้างความขัดแย้ง และ 3.การรับมือกับหากขึ้นศาลโลก ต้องเตรียมทีมไทยแลนด์ด้านกฎหมายไว้รับมือกับสถานการณ์ เพราะตอนนี้กัมพูชาได้นำหน้าเราไปเป็นเวลานาน หากไทยไม่เตรียมการเรื่องนี้อาจเสียทีได้ อย่าคิดว่าเขาจะไม่สามารถเอาเราขึ้นศาลโลกได้ อย่าประมาทเด็ดขาด
จากนั้น นายรังสิมันต์ ได้เข้าประชุม โดยช่วงต้นได้สอบถามไปยัง นายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อธิบดีกรมสนธิสัญญา ซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศ ว่า “ทำไมนายมาริษถึงไม่มา ซึ่งนายเบญจมินทร์ ชี้แจงว่า นายมาริษติดสัมภาษณ์ นายรังสิมันต์ จึงกล่าวว่า ตนอยากให้มาประชุมมาก ถ้าส่งข้อความไปหาได้ ก็ขอให้บอกให้มา ตนคิดว่ามีความสำคัญที่เราต้องเตรียมความพร้อม และอยากให้นายมาริษพิจารณามาเข้าร่วม สักครั้งหนึ่งก็ยังดี”
ข่าวเวิร์คพอยท์23