ย้อนรอยชีวิต บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

ย้อนรอยชีวิต บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

124023 เม.ย. 68 18:35   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ย้อนรอยชีวิต “บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” จากนายตำรวจชื่อดังที่ชาวบ้านเรียกหา สู่วันเจอคดีร้ายแรง ถูกไล่ออกจากราชการตำรวจ

บิ๊กโจ๊ก หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ที่ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของนายดาบตำรวจ ไสว และนางสุมิตรา หักพาล 

• การศึกษาในชั้นอนุบาล จากโรงเรียนกลับเพชรศึกษา ที่แม่ของเขาเป็นครู

• การศึกษาในชั้นประถม จากโรงเรียนวิเชียรชม

• การศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ และโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31  

• การศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐประศาสตรบัณฑิต จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 47 ในฐานะประธานรุ่น 

• การศึกษาระดับปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล

• การศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย, หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน


เริ่มต้นเส้นทางในวงการตำรวจในปี พ.ศ. 2537 ด้วยตำแหน่ง รองสารวัตร โดยใช้เวลาทำหน้าที่อยู่กว่า 6 ปี ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็น สารวัตร และดำรงตำแหน่งนาน 4 ปี 8 เดือน


หลังจากนั้น บิ๊กโจ๊กได้ขยับขึ้นเป็น รองผู้กำกับการ และทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้อีก 4 ปี ก่อนจะเลื่อนขั้นเป็น ผู้กำกับการ ได้รับยศ พ.ต.อ. ซึ่งถือว่าเติบโตในสายงานได้อย่างรวดเร็ว


หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญในเส้นทางอาชีพของเขาคือการได้รับตำแหน่ง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา และต่อมาเลื่อนขึ้นเป็น รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา รวมถึงดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา (ส่วนหน้า) ดูแลพื้นที่ความไม่สงบใน 4 อำเภอของชายแดนใต้ ได้แก่ จะนะ, นาทวี, สะบ้าย้อย และเทพา ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ทำให้เขาได้รับสิทธินับอายุราชการทวีคูณ จนได้เลื่อนขึ้นเป็น ผู้บังคับการ ในยศ พล.ต.ต. ขณะอายุยังไม่ถึง 45 ปี


เมื่อ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) บิ๊กโจ๊กได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้บังคับการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. และได้ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จนได้รับความไว้วางใจและถูกผลักดันอย่างต่อเนื่อง


ในปี พ.ศ. 2558 เขาถูกแต่งตั้งเป็น ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว และในปี พ.ศ. 2561 ได้รับตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมยศ พล.ต.ท. ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการที่อายุน้อยที่สุดในวงการตำรวจ ด้วยวัยเพียง 48 ปี


ระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว บิ๊กโจ๊กยังมีบทบาทใน ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นช่วงที่เขามีบทบาทแถลงข่าวจับกุมคดีสำคัญมากมาย จนกลายเป็นนายตำรวจที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนั้น


แต่ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 เส้นทางของเขาต้องสะดุด เมื่อมีคำสั่งให้ย้ายไปประจำ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม โดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุ และไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนใด ๆ ตามมา


ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้เขาพ้นจากตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และย้ายไปเป็น ข้าราชการพลเรือนสามัญ ในตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


ในปี พ.ศ. 2563 บิ๊กโจ๊กได้เดินทางไป อุปสมบทที่ประเทศอินเดีย เพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ก่อนจะกลับมารับหน้าที่เดิมที่ทำเนียบรัฐบาล และดูแลเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน ปลายปีเดียวกัน บิ๊กโจ๊กได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ต่อศาลปกครอง ฐานมีคำสั่งโยกย้ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สุดท้ายศาลมีคำสั่ง ยกฟ้อง


กระทั่งในปี พ.ศ. 2564 บิ๊กโจ๊กกลับเข้าสู่แวดวงตำรวจอีกครั้ง โดยรับหน้าที่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมแสดงผลงานการจับกุมคดีใหญ่หลายที่ได้รับความสนใจจากประชาชนไทย

หลังกลับคืนสู่แวดวงตำรวจอีกครั้ง ชื่อเสียงของบิ๊กโจ๊กก็ยิ่งเพิ่มทวีขึ้น จากหลายคดีดังที่บิ๊กโจ๊กเป็นคนลงไปบัญชาการสะสางหรือช่วยเหลือด้วยตนเอง รวมถึงคดี “กำนันนก” เมื่อนายธนัญชัย หมั่นมาก หรือ หน่อง ท่าผา อายุ 45 ปี ก่อเหตุที่ทำการยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว จำนวน 7 นัด ในขณะร่วมงานเลี้ยงที่บ้านของ หรือกำนันนก เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 โดยช่วงแรก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน ก่อนที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ในขณะนั้น) ได้สั่งการให้โอนคดีความไปยังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนการ


แต่ในขณะที่ชื่อเสียงของบิ๊กโจ๊กขึ้นสู่จุดสูงสุด กลับเกิดกระแสข่าวมีความขัดแย้งขึ้นระหว่างบิ๊กโจ๊ก กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สืบเนื่องจากเหตุที่ถูกเปิดโปงในกรณีที่ตำรวจชั้นผู้น้อยซึ่งเป็นกำลังพลของตน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเว็บพนันทางออนไลน์ ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 และยังมีการโยงมาถึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเว็บพนันออนไลน์ในเวลาต่อมา จึงทำให้กองกำลังตำรวจของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) เข้าบุกค้นที่พักอาศัยของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2566


และเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ออกมาพูดถึงกรณีคดีเว็บพนันนออนไลน์อีกครั้งและเป็นการออกมาพูดเพื่อยืนยันถึงเส้นทางการเงินของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีเว็บพนันออนไลน์จริง โดยเป็นฐานความผิดร่วมกันฟอกเงิน จนทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่าง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้เข้ามาขอยุติความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย


แต่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567 ทีมทนายความประจำตัวของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวออกมาเปิดโปงเกี่ยวกับการดำเนินคดีเว็บพนันออนไลน์ และได้มีการโยงไปถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ด้วย จนเกิดเป็นประเด็นขัดแย้งอีกครั้ง ก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล แต่การพูดคุยหาข้อยุติไม่ได้ จนนายเศรษฐาต้องลงนามในคำสั่งเรียกตัวทั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 60 วัน เพื่อสอบสวนลงโทษหากพบว่ามีการกระทำความผิด


หลังจากนั้นชีวิตการทำงานของบิ๊กโจ๊กก็ดูไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567 พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางมายื่นคำร้องขอต่อศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่ออนุมัติออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ในความผิดฐาน "สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการทำผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุผลที่ได้มีการสมคบกัน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 10 สืบเนื่องจากคดีเว็บพนันออนไลน์ BNK Master"

บิ๊กโจ๊กได้เข้ามอบตัวและประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ก่อนที่จะมีคำสั่งจากนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมกับนายตำรวจอีก 4 คน จากคดีดังกล่าว กระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ บิ๊กโจ๊ก พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567


กระทั่งวันที่ 11 มี.ค. 2568 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่งไล่บิ๊กโจ๊ก พร้อมด้วยลูกน้องที่เป็นนายตำรวจอีก 4 คน ออกจากราชการ เนื่องจากมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จากคดีเรื่องเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ซึ่งทางบิ๊กโจ๊กก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าจะยังคงเดินหน้าสู้คดีอย่างเต็มที่


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat