สำรวจสถิติเงิน 10,000 เฟสแรก ใช้ที่ไหน? ใช้อย่างไร?

สำรวจสถิติเงิน 10,000 เฟสแรก ใช้ที่ไหน? ใช้อย่างไร?

26703 ธ.ค. 67 18:16   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจความเห็นประชาชนที่ได้รับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟสแรก พบส่วนมากนำไปจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าชุมชน - ประชาชน 47.8% บอกพอใจกับโครงการมาก อีก 39.9% บอกพอใจมากที่สุด!

หลังจากรัฐบาลได้ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยโอนเงินสด 10,000 บาท ให้กลุ่มเป้าหมาย 14 ล้านคน ระหว่างวันที่ 25 ก.ย. - 30 ก.ย. 2567 ล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง เป็นต้นใช้ในการติดตาม ประเมินผลและเป็นแนวทางพัฒนาและปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพต่อไป


โดยใช้วิธีการสำรวจด้วยตัวอย่างแบบ Stratified Two - stage Sampling เก็บรวบรวมข้อมูลโดยส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติไปสัมภาษณ์ประชาชนตัวอย่างที่ได้รับสิทธิในโครงการฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในครัวเรือนส่วนบุคคลทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 31,500 ราย (ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 26,469 คน และคนพิการจำนวน 5,031 คน) ระหว่างวันที่ 4 - 22 พฤศจิกายน 2567


เงินที่ได้นำไปใช้กับอะไร? ใช้ได้นานแค่ไหน?

จากผลการสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 75.8 ระบุว่านำเงินไปใช้จ่าย ขณะที่ร้อยละ 12.8 ระบุว่านำไปชำระหนี้สินและร้อยละ 11.4 ระบุว่าเก็บออมไว้ โดยประชาชนตัวอย่างฯ ร้อยละ 21.1 ระบุระยะเวลาที่ใช้เงินน้อยกว่า 1 เดือน, ร้อยละ 60.5 ระบุระยะเวลาที่ใช้เงิน 1 - 3 เดือน, ร้อยละ 13.7 ระบุระยะเวลาที่ใช้เงิน 4 – 6 เดือน, และร้อยละ 4.7 มากกว่า 6 เดือน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนตัวอย่างฯ ในทุกภาค (ประมาณร้อยละ 56 – 64) ระบุระยะเวลาที่ใช้เงิน 1 - 3 เดือน ในสัดส่วนที่สูงที่สุด


เงิน 10,000 ใช้ไปกับอะไรมากที่สุด?

สำหรับประชาชนที่นำเงินไปใช้จ่าย ร้อยละ 95.1 ระบุว่านำเงินไปซื้ออาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวสาร หมูสด เป็นต้น ในสัดส่วนที่สูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ซื้อของใช้ในครัวเรือน เช่น ผงซักฟอก สบู่ เป็นต้น ร้อยละ 89.1, ชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เป็นต้น ร้อยละ 57.2, ชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน แก๊ส เป็นต้น ร้อยละ 26.7, และให้คนในครอบครัวหรือญาติไว้สำหรับใช้จ่าย ร้อยละ 26.3


เงิน 10,000 บาท เอาไปจับจ่ายที่ไหน?

สถานที่ที่ประชาชนในกลุ่มตัวอย่างนำเงินไปใช้จ่าย ร้อยละ 96.3 ระบุว่านำเงินไปใช้จ่ายที่ร้านค้าในชุมชน/ร้านขายของชำ, ร้อยละ 70.9 ระบุว่านำเงินไปใช้กับร้านประเภทหาบเร่ แผงลอย ทั้งที่อยู่ทั่วไปและในตลาด, ร้อยละ 54.1 ระบุว่าใช้เงินที่ร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ททั่วไป เช่น 7 - Eleven Mini Big C เป็นต้น, ขณะที่อีก ร้อยละ 18.4 นำไปใช้ที่ดิสเคาท์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Big C Lotus Tops เป็นต้น ที่เหลืออีก ร้อยละ 4.9 นำเงินไปใช้ที่สถานประกอบการอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ร้านค้าการเกษตร ร้านขายวัสดุก่อนสร้าง หรือร้านค้าออนไลน์ ฯลฯ



ความพึงพอใจต่อโครงการ

ในส่วนของความพึงพอใจต่อโครงการฯ ประชาชนตัวอย่างร้อยละ 39.9 ระบุว่ามีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด, ร้อยละ 47.8 ระบุว่ามีความพึงพอใจในระดับมาก, ร้อยละ 11.2 ระบุว่ามีความพึงพอใจในระดับปานกลาง, ร้อยละ 0.9 ระบุว่ามีความพึงพอใจในระดับน้อย และร้อยละ 0.2 ระบุว่าน้อยที่สุด


เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนตัวอย่างฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 50.5 ระบุว่า

มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น




ในการสำรวจครั้งใน ในกลุ่มตัวอย่าง 31,500 ราย มีรายละเอียดประชากรดังต่อไปนี้


1) เพศ : เป็นชายร้อยละ 45.7 เป็นหญิงร้อยละ 54.3 


2) อายุ : อายุ 18 – 29 ปี ร้อยละ 9.3, อายุ 30 – 39 ปี ร้อยละ 13.7, อายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 15.9, อายุ 50 – 59 ปี ร้อยละ 20.8, และอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 40.3 


3) ระดับการศึกษา : ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า/ไม่เคยเรียน ร้อยละ 63.1, มัธยมศึกษา/ปวช. ร้อยละ 33.3, ปวส./ปวท./อนุปริญญา ร้อยละ 2.1, และปริญญาตรีหรือสูงกว่า ร้อยละ 1.5


4) สถานะการทำงาน : ว่างงาน/ไม่ทำงาน ร้อยละ 35.6, ประกอบอาชีพ ร้อยละ 64.4 (ในจำนวนนี้เป็น เกษตรกรร้อยละ 33.0, รับจ้างทั่วไป/กรรมกร/ขับรถรับจ้างร้อยละ 40.7, ค้าขาย/ประกอบธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 18.1, พนักงาน/ลูกจ้างเอกชนร้อยละ 7.4, ลูกจ้างของรัฐร้อยละ 0.7, ข้าราชการบำนาญร้อยละ 0.1, ข้าราชการ พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจมีข้อมูลเล็กน้อย)

 

5) รายได้เฉลี่ยต่อปี: ไม่มีรายได้ ร้อยละ 2.4, รายได้น้อยกว่า 30,001 บาท ร้อยละ 33.4, รายได้ 30,001 – 60,000 บาท ร้อยละ 43.2, รายได้ 60,001 - 100,000 บาท ร้อยละ 20.8, และรายได้มากกว่า 100,000 บาทร้อยละ 0.2


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง