รู้จักโรคสูญเสียการทรงตัว(SCA) คร่าชีวิต “เสธ.วีร์” เจ้าของเพจดัง

รู้จักโรคสูญเสียการทรงตัว(SCA) คร่าชีวิต “เสธ.วีร์” เจ้าของเพจดัง

92103 ก.ค. 67 16:59   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

อย่าดูเบาอาการเดินเซ ที่จริงอาจร้ายแรงกว่านั้น ทำความรู้จัก “โรคสูญเสียการทรงตัว” โรคหายากที่คร่าชีวิต “เสธ.วีร์” นายทหารสื่อสารเจ้าของเพจแนวให้กำลังใจชื่อดัง

วันที่ 3 ก.ค. 2567 มีรายงานข่าวเศร้าถึงการจากไปของ พ.อ.วีร์ โรจนวงศ์ นายทหารสื่อสารประจำประจำกรมทหารสื่อสาร ช่วยราชการกองส่งกำลังบำรุง กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก เจ้าของเพจ “เสธ. วีร์ ชีวิตที่ไม่ยอมแพ้” ซึ่งเป็นเพจเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “โรคสูญเสียการทรงตัว” และให้กำลังใจชีวิต ทำให้ “โรคสูญเสียการทรงตัว” กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง


เสธ.วีร์ ได้เคยเล่าถึงอาการป่วยของตนเองไว้ว่าเริ่มจากมีคนสังเกตเห็น และทักเรื่องการเดินของตนว่ามีลักษณะเซ ไม่มั่นคง เหมือนประสบอุบัติเหตุมา เมื่อไปตรวจก็พบว่าตนเองนั้นป่วยเป็นโรคสูญเสียการทรงตัว ประเภทที่ 3 หรือ Spinocerebellar Ataxia Type 3 (SCA3)


ก่อนที่จะไปรู้จักกับโรคสูญเสียการทรงตัว หรือ โรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยและไขสันหลัง จะต้องพูดถึงภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ(Ataxia) เสียก่อน


ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ หรืออาจเรียกอย่างลำลองว่า อาการเซ คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานสัมพันธ์กันในขณะที่มีการเคลื่อนไหว ไม่สามารถขยับไปอย่างที่ใจต้องการ ซึ่งนอกจากการเดินเซแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การหยิบจับสิ่งของไม่อยู่มือ การเขียนหนังสือไม่ได้ หรือการพูดไม่ชัด ฯลฯ ซึ่งเป็นอุปสรรคในชีวิตประจำวัน


โดยภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ อาจจะแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามแต่สาเหตุของความผิดปกติ คือ


  • อาการเซที่เกิดจากการบาดเจ็บรุนแรงหรือโรคต่าง ๆ ที่ทำให้สมองและเส้นประสาทเกิดความเสียหาย (Acquired Ataxia) เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส เนื้องอกในสมอง การขาดสารอาหาร
  • อาการเซจากการถ่ายทอดยีนผ่านทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ผิดปกติ (Hereditary Ataxia) ซึ่งจะพัฒนาอาการขึ้นอย่างช้า ๆ ในเวลานานหลายปี โดยอาการเซที่พบได้บ่อยในกลุ่มนี้ คือ โรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานแบบเฟรดริก (Friedreich Ataxia)
  • อาการเซที่เกิดจากสมองถูกทำลายเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Late-Onset Cerebellar Ataxia: ILOCA)


โรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยและไขสันหลัง หรือ Spinocerebellar Ataxia (SCA) นั้นเป็นภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานแบบเฟรดริก (Friedreich Ataxia) คือเกิดจากการถ่ายทอดยีนส์ทางพันธุกรรม ที่ทำให้การทำงานทำให้สมองน้อย (cerebellum) ไขสันหลัง (spinal cord) และระบบประสาทนอกส่วนกลาง (peripheral nervous system) ซึ่งอยู่บริเวณไขสันหลังของผู้ป่วยทำงานผิดปรกติเนื่องจากมีการฝ่อลีบลง ส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อในร่างกาย


โรค SCA นี้เป็นโรคที่พบไม่บ่อยและมีอุบัติการณ์การเกิดโรคเพียงแค่ 2.7-5.6 ต่อประชากรโลก 100,000 ราย แต่ลักษณะเด่นหนึ่งของโรคคือสามารถถ่ายทอดให้สู่รุ่นลูกได้ถึง 50:50 เลยทีเดียว


โดย  SCA จะมีการแบ่งเป็นประเภทหรือ Type ต่างๆ กัน มากกว่า 30 แบบ ในแต่ละแบบจะมีอาการแสดง อายุของผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรค และลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของยีนบนโครโมโซมของผู้ป่วย  SCA ประเภทที่ 3 ที่ พ.อ.วีร์ เป็นนั้นเป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดในไทย


อาการผิดปกติมักเริ่มปรากฏตั้งแต่วัยเริ่มเจริญพันธุ์ จนไปถึงช่วงก่อนวัยผู้ใหญ่ โรคนี้ปรากฏโดยช้าและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถในการเคลื่อนไหวทางกายภาพของผู้ป่วยจะเสื่อมสภาพลงตามลำดับและสูญเสียไปในที่สุด แต่ขณะเดียวกันระบบจิตใจและความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยจะยังคงเป็นปกติ


อาการผิดปกติของผู้ป่วยที่สังเกตเห็นได้ คือ


  • อาการส่ายสั่น (Intention Tremor)
  • พูดไม่ชัด (Dysarthria)
  • อาการตากระตุก (Nystagmus)
  • มีความบกพร่องด้านการกะระยะ (Dysmetria)
  • มีความบกพร่องในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและสลับกัน (Dysdiadochokinesis)
  • มีปัญหาด้านการกินหรือการกลืน
  • ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบาก เช่น ตักข้าวได้ยาก ติดกระดุมไม่ได้ หยิบจับสิ่งของลำบาก
  • การทรงตัวไม่มั่นคง (Impaired balance), เดินได้ไม่มั่นคง มีอาการเซได้ง่าย, ล้มหรือสะดุดบ่อยครั้ง


หากสังเกตพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเช่นนี้ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุ ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การทำการภาพบำบัด รวมถึงการรับประทานวิตามินหรือสารแอนตี้ออกซิแดนท์บางชนิดก็ช่วยบรรเทาอาการ และชะลอการเสื่อมของสมองให้ช้าลงได้


ที่มา:

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง