ผู้ใช้รถไฟฟ้าเตรียมลงทะเบียน! รับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
ผู้ใช้รถไฟฟ้าเตรียมลงทะเบียน! รับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย

ผู้ใช้รถไฟฟ้าได้เฮ รัฐบาลผลักดันสำเร็จ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เตรียมเปิดลงทะเบียนผู้รับสิทธิ์สิงหาคมนี้(ได้สิทธิทุกคน) ก่อนเริ่มใช้งานได้ 8 เส้นทาง 30 กันยายน 68 ใช้บัตรโดยสารใบเดิมได้
(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 กระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินนโยบาย “ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างทั่วถึง โดยได้ดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายแล้วใน 2 เส้นทาง ดังนี้
1.สายสีม่วง Purple Line (รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม)
ทั้งหมด 16 สถานี : คลองบางไผ่, ตลาดบางใหญ่, สามแยกบางใหญ่, บางพลู, บางรักใหญ่, บางรักน้อยท่าอิฐ, ไทรม้า, สะพานพระนั่งเกล้า, แยกนนทบุรี 1, บางกระสอ, ศูนย์ราชการนนทบุรี, กระทรวงสาธารณสุข, แยกติวานนท์, วงศ์สว่าง, บางซ่อน และเตาปูน
2.สายสีแดง SRT Red Lines
เส้นทางที่ 1 รถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต) ทั้งหมด 10 สถานี : บางซื่อ, จตุจักร, วัดเสมียนนารี, บางเขน, ทุ่งสองห้อง, หลักสี่, การเคหะฯ, ดอนเมือง, หลักหก และรังสิต
เส้นทางที่ 2 สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) ทั้งหมด 7 สถานี : บางซื่อ, บางซ่อน, สะพานพระราม 6, บางกรวย – กฟผ., บางบำหรุ และตลิ่งชัน
และรัฐบาลยืนยันว่า จะขยายผลนโยบายครอบคลุม 8 เส้นทาง ภายในวันที่ 30 กันยายน 2568 ได้แก่:
• สายสีเขียว
• สายสีทอง
• สายสีเหลือง
• สายสีชมพู
• สายสีน้ำเงิน
• แอร์พอร์ต เรล ลิงก์
• สายสีม่วง (เริ่มแล้ว)
• สายสีแดง (เริ่มแล้ว)
การลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์
• คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์: ต้องมีเลขประจำตัวประชาชนไทย 13 หลัก (นักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ได้รับสิทธิตามนโยบายนี้)
• ช่องทางลงทะเบียน: ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”
• ช่วงเวลาลงทะเบียน: คาดว่าจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในเดือนสิงหาคม 2568
• การใช้สิทธิ์: วันที่ 30 กันยายน 2568
• การลงทะเบียน: ยืนยันตัวตนเพื่อให้ระบบสามารถจัดการค่าใช้จ่ายระหว่างผู้ให้บริการที่ต่างกันได้
• หากไม่ได้ลงทะเบียน: ผู้โดยสารไม่มีบัตรที่รองรับ หรือลงทะเบียนไม่ทันตามกำหนด จะต้องชำระค่าโดยสารในอัตราปกติ
รูปแบบการชำระเงิน
• บัตรแรบบิท ใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย คือ สีเขียว สีทอง สีชมพู สีเหลือง
• บัตร MRT Plus ใช้กับรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สีน้ำเงิน สีม่วง
• บัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) Contactless Card ใช้กับรถไฟฟ้า 6 สาย ได้แก่ สีแดง, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู, สีเหลือง
• รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) รับเฉพาะบัตร ARL
ทั้งนี้ สามารถใช้บัตรโดยสารที่ใช้อยู่เดิมได้ เพียงแต่ต้องลงทะเบียนบัตรเหล่านั้น ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐก่อนจึงจะได้รับสิทธิ์ 20 บาทตลอดสาย และเมื่อลงทะเบียนผ่านแอป “ทางรัฐ” แล้ว ในปีแรก ยังไม่สามารถใช้บัตรข้ามสายกันได้ ยังใช้บัตรเดิมของแต่ละสาย แต่ค่าโดยสารตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางที่มีการเดินทางข้ามสายจะสูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยผ่านแอป “ทางรัฐ” เพื่อใช้ระบบเคลียร์ริ่งเฮ้าส์
สำหรับแผนในอนาคตในปี 2569 กระทรวงคมนาคมมีแนวทางที่จะเริ่มนำระบบชำระค่าโดยสารรูปแบบใหม่มาใช้ โดยจะปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบ QR Code สำหรับการสแกนจ่ายค่าโดยสารผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อลดขั้นตอนการออกบัตรโดยสาร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น