แผ่นดินไหวที่เมียนมา จากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย อาฟเตอร์ช็อกแล้ว 11 ครั้ง
แผ่นดินไหวที่เมียนมา จากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย อาฟเตอร์ช็อกแล้ว 11 ครั้ง

กรมอุตุฯ เผยแผ่นดินไหวบนบกขนาดใหญ่ที่เมียนมา เกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย อาฟเตอร์ช็อกแล้ว 11 ครั้ง และยังสามารถเกิดอาฟเตอร์ช็อกขึ้นได้อีก
(28 มี.ค.68) กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหว เมื่อเวลา 13.20 น. วันนี้ จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมา ที่ละติจุด 21.682 องศาเหนือ ลองจิจุด 96.121 องศาตะวันออก ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กม.นั้น เกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย และได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทั้งบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร
ขณะที่กรมทรัพยากรธรณี รายงานว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นแผ่นดินไหวบนบกขนาดใหญ่ (Major) ที่ระดับความลึก 10 กม.ครั้งนี้ จุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา บริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ห่างจากเมืองสะกาย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ เป็นระยะทาง 16 กม.ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทยรับรู้ได้ ถึงแรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมถึง กทม.และปริมณฑล (ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 1,100 กม.) โดยกรมทรัพยากรธรณี กำลังติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการเป็นระยะๆ
โดยรายงานอาฟเตอร์ช็อก เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดอาฟเตอร์ช็อกแล้วอย่างน้อย 11 ครั้ง และยังสามารถเกิดอาฟเตอร์ช็อคขึ้นได้อีก ขอให้ประชาชนติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ห้วงเวลาและขนาดการเกิดอาฟเตอร์ช็อกที่ผ่านมาคือ
- ครั้งที่ 1 เวลา 13.32 น. ขนาด 7.1
- ครั้งที่ 2 เวลา 13.45 น. ขนาด 5.5
- ครั้งที่ 3 เวลา 14.24 น. ขนาด 4.0
- ครั้งที่ 4 เวลา 14.37 น. ขนาด 5.2
- ครั้งที่ 5 เวลา 14.42 น. ขนาด 3.9
- ครั้งที่ 6 เวลา 14.57 น. ขนาด 4.7
- ครั้งที่ 7 เวลา 15.21 น. ขนาด 4.0
- ครั้งที่ 8 เวลา 15.45 น. ขนาด 3.7
- ครั้งที่ 9 เวลา 15.52 น. ขนาด 3.8
- ครั้งที่ 10 เวลา 16.26 น. ขนาด 4.3
- ครั้งที่ 11 เวลา 16.30 น. ขนาด 4.5
โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ขอแจ้งให้ทราบว่า ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องได้รับข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐานสากล ได้แก่ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน , สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล เมื่อตรวจพบความผิดปกติก็จะสามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนได้ทันที
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย พบว่า มีโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น สิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหว คือการติดตามข่าวสารด้านภัยธรรมชาติอยู่เสมอ เพื่อรับข้อมูลได้รวดเร็ว หากเกิดเหตุขึ้นก็จะสามารถเตรียมตัวอพยพได้ทันท่วงที - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน
ข่าวที่เกี่ยงข้อง :