ป.ป.ส. ยึดสารเคมีผลิตยาอันตราย ใช้แทนยาเสพติดของเครือข่ายข้ามชาติ

ป.ป.ส. ยึดสารเคมีผลิตยาอันตราย ใช้แทนยาเสพติดของเครือข่ายข้ามชาติ

16512 ธ.ค. 67 19:37   |     Tum1

ป.ป.ส. ยึดสารเคมีผลิตยาอันตราย ใช้แทนยาเสพติดของเครือข่ายข้ามชาติ ที่นิยมนำมาเสพโดยผสมใส่ในบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 ธ.ค.67 ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. (ดินแดง) พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายปฤณ เมฆานันท์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด และ พล.ร.ต.หัตถกรนันท์ ศิรธนพรพัชร์ รองหัวหน้าฝ้ายข่าว ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกองทัพเรือ (ศอ.ปส.ทร.) ร่วมแถลงการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม , กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , กรมข่าวทหารเรือ และคณะกรรมาธิการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Narcotics Control Commission : NNCCC) 

ได้ทำการตรวจยึดสารเคมี ที่ใช้ในกระบวนการผลิตสารเอโทมีเดท (Etomidate) ที่โกดังเก็บสารเคมี แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม.รวม 7 รายการ สารเคมีจำนวน 11 ถัง น้ำหนัก 2,200 ลิตร และสารเคมีจำนวน 10 ถุง น้ำหนัก 250 กิโลกรัม พร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตสารเคมี อาทิเช่น เครื่องทำความเย็น , เครื่องทำความร้อน , หลอดแก้วและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ ฯลฯ 



พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.67 ที่ผ่านมา NNCC ของจีน ประสานข้อมูลมายังสำนักงาน ป.ป.ส.เกี่ยวกับคดีการจับกุมผู้ต้องหา พร้อมสารเอโทมีเดท (Etomidate) ในจีน ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า เครือข่ายชาวจีน 4 ราย ได้มีการสั่งซื้อสารเคมีหลายประเภทจากจีน จำนวน 3.5 ตัน และลักลอบนำเข้าสารเคมีดังกล่าว เข้ามายังประเทศไทย จึงประสานข้อมูลดังกล่าวมายัง สำนักงาน ป.ป.ส.

ตนจึงมอบหมายให้นายปฤณ เมฆานันท์ ผอ.สำนักปราบปรามยาเสพติด สั่งการชุดปฏิบัติการสืบสวนพิสูจน์ทราบพื้นที่ต้องสงสัย และตรวจสอบรายชื่อสารเคมี ที่ได้รับข้อมูลจากทางการจีน กระทั่งทราบว่าเป็นโกดังในพื้นที่บริษัท ย่านแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค.67 สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจค้นโกดังเก็บสารเคมีดังกล่าว พบว่าโกดังถูกเช่าโดยชาวจีน ชุดปฏิบัติการจึงได้ตรวจยึดสารเคมีต้องสงสัย 7 ชนิด ประกอบด้วย 

  1. สารเฟนิลเอทิลลามีน (Phenylethylamine)
  2. สารไตรเอทิลเอมีน (Triethylamine)
  3. เบนซีน (Benzene)
  4. สารเอทิล คลอโรอะซีเตต (Ethyl chloroacetate)
  5. กรดฟอร์มิก (Formic acid 85%)
  6. สารเอทิลฟอร์เมต (Ethyl formate)
  7. สารโพแทสเซียมไทโอไซยาเนต (Potassium thiocyanate) 

โดยรวมทั้งหมดจำนวน 11 ถัง น้ำหนัก 2,200 ลิตร ทั้งนี้ จำนวนน้ำหนัก 2,200 ลิตรนี้ สามารถใช้ผลิตสารเอโทมีเดทได้ถึง 200 กิโลกรัม ราคาขายที่จีนประมาณ 30 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 140 ล้านบาท ซึ่งสามารถผสมกับบุหรี่ไฟฟ้าได้ถึง 600,000 ชิ้น



เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า สารเอโทมีเดท (Etomidate) เมื่อมีการนำไปผสมกับบุหรี่ไฟฟ้า หากเด็กและเยาวชนสูบเข้าไปจะมีอาการเคลิ้มเคลิ้ม ดังนั้น โอกาสที่จะไม่รู้ตัว หรือโอกาสที่จะถูกล่วงละเมิดก็จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งย้ำว่าในประเทศไทยยังไม่มีการแพร่ระบาดในลักษณะดังกล่าว แต่ยอมรับว่า เมื่อปี 2565 เจ้าหน้าที่เจอสารเอโทมีเดทในผับแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ทองหล่อ แต่ว่าเป็นคนจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กับคนไทย โดยทั้ง 4 คนนี้ ตรวจพบสารเสพติดอย่างอื่นพร้อมกับบุหรี่ไฟฟ้า เลยเอาสารเสพติดกับบุหรี่ไฟฟ้าไปตรวจ จึงนับว่าปี 2565 ถือเป็นการพบสารเอโทมีเดทในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง