191 บุกทลายรัง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ข้ามชาติ จับเวียดนาม 27 ราย ตั้งฐานหมู่บ้านหรูย่านชานเมือง

191 บุกทลายรัง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ข้ามชาติ จับเวียดนาม 27 ราย ตั้งฐานหมู่บ้านหรูย่านชานเมือง

69910 มิ.ย. 68 17:21   |     Tum1

191 บุกทลายรัง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ข้ามชาติ จับเวียดนาม 27 ราย ตั้งฐานหมู่บ้านหรูย่านชานเมือง มูลค่าความเสียหาย 39 ล้านบาท

(10 มิ.ย.68) เนื่องจากนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเดินหน้าปราบปรามขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และบัญชีม้าอย่างเข้มข้น ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการให้ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ , พล.ต.ท. สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง นำกำลังตำรวจ 191 บุกทลายรังแก๊งคอลเซนเตอร์ชาวเวียดนาม 27 ราย พร้อมของกลางจำนวนมาก ตั้งฐานหลอกลวงเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทย มูลค่าเสียหายหลายล้านบาท 


พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวว่า ตำรวจ 191 ได้รับร้องเรียกจากประชาชนว่าพบกลุ่มชาวต่างชาติจับกลุ่มมั่วสุมกันเป็นจำนวนมาก ตำรวจสายตรวจ 191 จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและสืบสวน พบว่า มีบุคคลต่างด้าวเช่าบ้านจำนวน 2 หลัง ในหมู่บ้านหรูย่านชานเมือง และมีพฤติกรรมน่าสงสัยจึงได้ทำการขอหมายค้น เพื่อทำการเข้าตรวจสอบ โดยหลังแรกพบบุคคลต่างด้าว 18 ราย และหลังที่สองอีก 9 ราย เป็นหญิง 5 ราย และ ชาย 22 ราย รวมทั้งสิ้น 27 ราย พร้อมของกลาง โทรศัพท์มือถือ 116 เครื่อง , คอมพิวเตอร์ 45 เครื่อง และยาเสพติด (เคตามีน) 5 กรัม 



โดยพฤติการณ์กลุ่มชาวเวียดนามดังกล่าว ได้เดินทางมาจากเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม และเข้ามายังประเทศไทยช่วงเดือนตุลาคม 2567 โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เพียง 60 วัน และส่วนใหญ่จะเดินทางเข้าผ่านด่านคลองลึก จ.สระแก้ว ก่อนที่จะจับกลุ่มกันเพื่อมาทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทย 

รูปแบบการหลอกลวงใช้แผนประทุษกรรมเดียวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ Romance Scam โดยเลือกกลุ่มเหยื่อเป็นชาวเวียดนาม สร้างโปรไฟล์ใช้รูปหน้าตาดี เป็นคนร่ำรวย ต้องการซื้อที่ดิน และประกอบอาชีพ ให้เหยื่อหลงเชื่อก่อนจะใช้คำหวานหว่านล้อมให้ตกหลุมรัก ก่อนจะหลอกให้โอนเงินตามภารกิจต่างๆ ที่วางไว้ ออกกลอุบาย อาทิ มีหนี้สินต้องชำระเพื่อให้เหยื่อเกิดความเห็นใจและโอนเงินให้การช่วยเหลือ สำหรับช่องทางที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อผ่านแอปพลิเคชัน “Zalo” ซึ่งเป็นแช็ตไลน์ในประเทศเวียดนาม


จากการตรวจสอบ พบว่า คอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงานแต่ละเครื่อง จะมีผู้ต้องหานั่งประจำทุกเครื่อง และมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำงานโดยทั้งหมด 27 เครื่อง ซึ่งตรวจสอบข้อมูลพบว่าตั้งแต่ช่วงมีนาคมถึงปัจจุบัน แต่ละเครื่องสามารถหลอกลวงได้ประมาณ 1,200 ล้านดอง ต่อเดือน ทั้งหมด 27 เครื่องอยู่ที่ 36,000 ล้านดองต่อเดือน รวมเป็นมูลค่าความเสียหายตีเป็นเงินไทย จำนวน 39 ล้านบาท



จากการสอบปากคำ ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า มีการเช่าบ้านตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2567 โดยทั้ง 2 หลัง เช่าหลังละ 30,000 - 40,000 บาท ซึ่งคนงานจะเข้ามาทำงานช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยมีรายได้อยู่ที่ 12,000 บาทต่อเดือน และหากหลอกได้สำเร็จจะได้เงินเพิ่มเติมประมาณ 25,000 บาท ต่อเดือนซึ่งผู้ต้องหาแต่ละคน จะแบ่ฃหน้าที่กันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเชฟทำอาหาร ช่างไฟ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์เมื่อเกิดปัญหาทันทีซึ่งจะมีการขยายผลต่อไป 


อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจได้มีการประสานเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และศูนย์ปราบปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เป็น ผอ.ศูนย์ฯ เบื้องต้นตำรวจจึงนำตัวและของกลางทั้งหมดส่งให้ พนักงานสอบสวน สน.ลำผักชี เพื่อดำเนินดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน 



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง