บุกค้นบริษัทนอมินีจีน ขาย-ให้เช่าเครื่องจักรหนักนำเข้า
บุกค้นบริษัทนอมินีจีน ขาย-ให้เช่าเครื่องจักรหนักนำเข้า

ตำรวจสอบสวนกลางบุกค้น 3 สำนักงานของบริษัทนอมินีจีน นำเข้า ขาย และปล่อยเช่าเครื่องจักรหนักจากจีน พบเงินหมุนเวียน 500 ล้านบาท
(25 มิ.ย. 68) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เข้าตรวจค้นสำนักงานของบริษัทนำเข้าเครื่องจักรแห่งหนึ่ง พร้อมกัน 3 จุด คือ สำนักงานใหญ่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร, สาขานวนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สาขาระยอง จังหวัดระยอง พร้อมตรวจยึด
1.หนังสือรับรองการขอจัดตั้งบริษัท 1 ชุด
2.รายการสต๊อกสินค้า 1 แฟ้ม
3.เอกสารการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ/เช่าซื้อในประเทศ 1 แฟ้ม
4.ใบส่ง-ส่งสินค้า ปี 2568 2 แฟ้ม
5.ใบส่งสินค้างานเช่า ใบรับสินค้าคืน 2 แฟ้ม
6.สำเนาเอกสารรถ 1 แฟ้ม
7.ใบเช่าใบรับสินค้า 3 แฟ้ม
8.เอกสารงบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชี 1 แฟ้ม
9.สมุดบัญชีธนาคาร 6 เล่ม
10.ตราประทับบริษัท จำนวน 9 อัน
และดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ดังต่อไปนี้
1.นิติบุคคล จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย นิติบุคคลสัญชาติจีน จำนวน 1 ราย, นิติบุคคลสัญชาติไทย จำนวน 1 ราย
2.บุคคล จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายเหวย (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี สัญชาติจีน, นางสาว ปุณณดา (สงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี บุคคลสัญชาติไทย, นางสาว ณัฐรดา (สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี บุคคลสัญชาติไทย
เพื่อดำเนินคดีในความผิดฐาน “พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542”
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ตรวจสอบพบบริษัทต้องสงสัยว่าเข้าข่ายกระทำความผิดในลักษณะนำบุคคลสัญชาติไทยมาเป็นตัวแทนอำพราง หรือที่เรียกว่า “นอมินี” ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนของคนไทยแทนคนต่างด้าว เพื่อหลบเลี่ยงข้อกฎหมายและการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกลุ่มผู้ต้องหาได้ประกอบธุรกิจในลักษณะการนำเข้า และให้เช่า เครื่องจักรหนัก รถเครน และรถยก เพื่อเลี่ยงข้อกฎหมาย
ต่อมา กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ทำการสืบสวนสอบสวน พบว่า โครงสร้างของกลุ่มบริษัท มีการนำนิติบุคคลมาถือหุ้นในสัดส่วนของผู้ถือหุ้นของคนไทย โดยบริษัทดังกล่าวมีการจดจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเป็นโฮลดิ้ง แต่ไม่ได้ประกอบธุรกิจใดๆ ซึ่งบริษัทมีความเกี่ยวพันกันทั้งในด้านโครงสร้างผู้ถือหุ้น กรรมการ และเส้นทางการเงิน ในส่วนของผู้ถือหุ้นคนไทย จำนวน 2 ราย ไม่มีบทบาทในการบริหาร และน่าเชื่อว่าไม่ได้ลงทุนจริง โดยทั้ง 2 รายเป็นพนักงานของบริษัท และเมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทพบว่า มีการรับโอนเงินจากนายทุนจีนมาลงทุน เป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท และพบเงินหมุนเวียนในบัญชีของบริษัทกว่า 500 ล้านบาท จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้นจับกุม ได้นำหมายค้นเข้าทำการตรวจค้นบริษัทและที่ตั้งของสาขาต่างๆ พร้อมกัน 3 จุด ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ระยอง และพระนครศรีอยุธยา พบเอกสารให้เช่าซื้อ และ เครื่องจักรหนักจากในและนอกประเทศ กว่า 250 คัน อาทิเช่น รถเครน รถยก และอื่นๆ จากการสอบถามพนักงานและกรรมบริษัท ผู้ถือหุ้นคนไทย ให้การยืนยันว่าบริษัทฯ ถูกบริหารโดยบุคคลสัญชาติจีนเป็นหลัก ทั้งยังพบการใช้คิวอาร์โค้ดของพนักงาน ในการรับเงินจากการเช่ารถเครน และเครื่องจักรหนักต่างๆ ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นการกระทำที่อาจจะหลบเลี่ยงภาษีเงินได้ ทั้งนี้อยู่ระหว่างสืบสวนขยายผลต่อไป
จากการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม กก.4 บก.ปอศ. พบว่า ในห้วงปี 2566-2567 หลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว บริษัทได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภท รถเครน และเครื่องจักรหนักอื่นๆ จากประเทศจีน โดยมีการนำเข้าเครื่องจักรหนักมาจากประเทศจีน เพื่อมาจำหน่ายและให้เช่าภายในประเทศไทย มีการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และการขยายสาขาอีกหลายแห่ง ทั้งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดระยอง ซึ่งการประกอบธุรกิจนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทำการขายภายในประเทศ หรือให้เช่าเครื่องจักรดังกล่าว เป็นธุรกิจที่ต้องได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่กลับมีการประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่ายเครื่องจักร เช่น รถเครน และรถตัก ซึ่งเป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขันกับชาวต่างชาติ
จึงได้ดำเนินคดี กับบริษัท จำนวน 2 บริษัท และบุคคลทั้งสัญชาติจีนและสัญชาติไทย จำนวน 3 ราย ในความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ต่อพนักงานสอบสวน กก.4
บก.ปอศ. ตามกฎหมาย
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอเตือนภัยถึงพี่น้องประชาชน การให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้น โดยการนำเอาชื่อของตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดไปก่อตั้งบริษัทให้กับบุคคลต่างชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนชาวต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ภายในประเทศ อันส่งผลกระทบภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น การแข่งขันทางธุรกิจในประเทศและธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับประชาชนคนไทย ซึ่งจะมีความผิดทั้ง
นิติบุคคลและผู้ให้ความช่วยเหลือ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง