“ด้วงสาคู” จากศัตรูตัวร้ายสู่ Super Food!

“ด้วงสาคู” จากศัตรูตัวร้ายสู่ Super Food!

32230 ก.ย. 67 17:08   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ทำความรู้จัก “ด้วงสาคู” ที่ตัวอ่อนดูน่ากลัวเหมือนหนอนตัวใหญ่ เป็นศัตรูพืชตัวฉกาจของพืชตระกูลปาล์ม แต่พลิกกลับมาเป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจด้วยคุณค่าทางอาหารที่มีเพียบ!

(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)

ด้วงสาคู แมลงกินได้ที่มีหลายชื่อเรียก เช่น ด้วงงวงมะพร้าว ด้วงไฟ ภาคใต้เรียก ด้วงลานหรือแมงหวัง  เป็นแมลงที่หลายคนอาจมองข้าม แต่กำลังกลายเป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยคุณค่าทางอาหารและศักยภาพในการเพาะเลี้ยง


ลักษณะทั่วไปของด้วงสาคู

  • ขนาดลำตัวยาว 2.2-3.5 เซนติเมตร 
  • ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลอมส้มหรือสีน้ำตาลปนดำ
  • ปากยาวบาง งวงโค้ง มีจุดแต้มสีน้ำตาลเข้มด้านบนของอกปล้องแรก 
  • ปีกคู่หน้ามีริ้วรอยเป็นเส้น ๆ
  • ตัวผู้ขนเป็นแนวที่ส่วนกลางตามความยาวของงวง
  • ตัวเมียมีปลายงวงยาวเรียว
  • มีวงจรชีวิต 150-259 วัน


ปัจจุบันเกษตรกรไทยทำการเพาะเลี้ยงด้วงสาคูทั่วทุกภาคในประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้ จังหวัดยะลา เนื่องจากมีป่าต้นสาคูในพื้นที่จำนวนมาก จึงสามารถหาวัตถุดิบในการเพาะเลี้ยงได้ง่าย ด้วงสาคูสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ปรุงอาหาร เป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยง และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดี


การเลี้ยงด้วงสาคูกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจและให้ผลตอบแทนที่ดี แต่ก่อนจะเริ่มเลี้ยงนั้น มีสิ่งที่คุณควรรู้และเตรียมตัวดังนี้ค่ะ


อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงประกอบด้วย

  1. กะละมังพร้อมฝาปิด
  2. สาคูบด กิ่งปาล์มสดบด หัวอาหารผสม 
  3. เครื่องบดสับทางปาล์ม
  4. ถังหมัก
  5. สูตรอาหารเสริม
  6. พ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู
  7. เปลือกมะพร้าวสด
  8. อุปกรณ์อื่น ๆ


ขั้นตอนการผลิตพ่อแม่พันธุ์

  1. เตรียมอาหารผสม คือ ต้นสาคูบด 10 กก. ผสมกับอาหารเลี้ยงสัตว์ 0.5 กก.
  2. นำส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปใส่รองก้นกะละมังหนา 1 นิ้ว
  3. นำเปลือกมะพร้าวสดแช่น้ำ แล้วนำมาวางเรียงในกะละมัง และใส่อาหารผสมลงไปในช่องว่างของเปลือกมะพร้าวให้ทั่ว 2 ชั้น ใน 1 กะละมัง
  4. คัดเลือกตัวหนอนด้วงสาคูที่โตได้ขนาดอายุ 35-40 วัน ใส่ในกะละมังที่เตรียมไว้ 100 ตัว/กะละมัง
  5. ทิ้งไว้รอให้ตัวหนอนด้วงสาคูเข้าฝักดักแด้ 20-30 วัน
  6. เก็บฝักดักแด้ออกมารวบรวมกันอีกกะละมัง และรอให้ตัวด้วงเจาะออกจากฝักดักแด้ 5-10 วัน
  7. จับตัวด้วงตัวเต็มวัยคัดแยกเพศรอการผสมพันธุ์ ก่อนนำไปปล่อยในกะละมัง ผลิตขยายหนอนด้วงสาคูต่อไป


อ้างอิง:

https://kukrdb.lib.ku.ac.th/doc/sago.pdf

https://www.slri.or.th/bl6a/newsbl6/55



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง