ย้อนรอยคดีตากใบ ก่อนหมดอายุความ 25 ต.ค. 67

ย้อนรอยคดีตากใบ ก่อนหมดอายุความ 25 ต.ค. 67

8618 ต.ค. 67 22:14   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ย้อนรอยเหตุการณ์สะเทือนใจ จากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส สู่การล้อมจับกุม ก่อนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน ในปี 2547 พร้อมนับถอยหลังก่อน “คดีตากใบ” จะขาดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 นี้

(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)

ย้อนกลับไปช่วงเดือนตุลาคม 2547 เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูเว หมู่5 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน โดยกล่าวหาว่า ชรบ. ทั้ง 6 คนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยักยอกอาวุธปืนลูกซองเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ก่อความไม่สงบ 


วันที่ 25 ตุลาคม 2547 กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอําเภอตากใบ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการคุมขังประชาชน 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อผู้ชุมนุมขว้างปาก้อนหินและพยายามจะบุกสถานีตำรวจ กองกำลังความมั่นคงได้ใช้แก๊สน้ำตาและยิงตอบโต้ มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน และถูกจับกุมประมาณ 1,370 คน ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อนำตัวสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งอยู่ห่างจาก สภ.ตากใบ ราว 150 กิโลเมตร 


ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ได้มีการสั่งให้ผู้ชุมนุมชายถอดเสื้อและมัดมือไพล่หลัง คนจำนวนมากถูกทำร้ายร่างกายทุบตี และถูกนำตัวผู้ชุมนุมวางซ้อนทับกันหลายชั้นบนรถบรรทุกจนมีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน คนที่เหลือส่วนใหญ่หลังถูกสอบสวนแล้วก็ถูกปล่อยโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่มี 58 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ารวมตัวชุมนุมโดยผิดกฎหมาย 


ในปี 2552 ผลการชันสูตรพลิกศพระบุว่าในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการถือศีลอดของชาวมุสลิมและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มในระหว่างที่มีการควบคุมผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับ ขาดอาหาร-น้ำ และไตวายเฉียบพลันที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร


จากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีใด ๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ 2547 โดยประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลาได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีนี้ เพราะคดีนี้ยังไม่มีความคืบหน้าและใกล้จะหมดอายุความ เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงว่าในขณะนี้ไม่พบสำนวนคดี จึงไม่สามารถดำเนินการต่อในทางกฎหมายได้ ท้ายที่สุดทาง กมธ. มีมติทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทำการเร่งรัดความคืบหน้าของคดีนี้ โดยทางสำนักงานอัยการภาค 9 และตำรวจภูธรภาค 9 ได้ขอเวลาติดตามสำนวนภายใน 30 วันนับจากวันที่ประชุม 


วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 คดีนี้ได้กลับสู่กระบวนการอีกครั้ง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งสำนวนคดีอาญาของสถานีตํารวจภูธรหนองจิก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพไปยังอัยการสูงสุด พร้อมมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจนถึงขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของอัยการสูงสุด โดยผู้เสียหายจํานวน 48 ครอบครัว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวต่อศาลจังหวัดนราธิวาส หลังศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องเสร็จสิ้นได้มีการประทับรับฟ้องในวันที่ 23 สิงหาคม 2567 โดยนัดสอบคำให้การจำเลยครั้งแรกในวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยจำเลยทั้ง 9 คน มีดังนี้


จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 

จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 

จำเลยที่ 3 พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5

จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า

จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9

จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับการ สภ.ตากใบ

จำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับการ สภ.ตากใบ 

จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส


ท้ายที่สุด ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส พิจารณาแล้วเห็นว่า พล.อ.พิศาล เป็น สส. ซึ่งไม่มาตามนัดศาล และก็ไม่ปรากฎว่า พล.อ.พิศาล ได้เข้าร่วมการประชุมสภา ถือได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เท่ากับว่าจำเลยทั้งหมดถูกออกหมายจับ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินการจับกุมตัวเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ทันก่อนที่คดีนี้จะหมดอายุ


คดีสลายม็อบตากใบแยกออกเป็น 2 สำนวน คดีแรก ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ยื่นฟ้อง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี กับพวกรวม 9 คนเป็นจำเลย ศาลออกหมายจับ 7 คน ด้ังนี้


จำเลยที่1 พล.อ.พิศาล อดีต มทภ.4 

จำเลยที่ 3 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผอ.ศปก.ตร.สน. 

จำเลยที่ 4 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีต ผบ.พล.ร.5

จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผบช.ภ.9 

จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีต ผกก.สภ.ตากใบ 

จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรอง ผอ.กอสส.จชต. และอดีตรองปลัดฯมหาดไทย

จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีต ผวจ.นราธิวาส 


ส่วน จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีต รอง มทภ.4 และ จำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรอง ผกก.สภ.ตากใบ ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง


ล่าสุด เมื่อ 14 ต.ค. 2567 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยระบุในหนังสือลาออกว่าไม่ต้องการให้เรื่องคดีของตนถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือผูกโยงให้พรรคได้รับผลกระทบ รวมทั้งระบุว่าเมื่ออาการป่วยทุเลาลงแล้ว


ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หากผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีใดคดีหนึ่งไม่ได้มามอบตัวตามหมายจับ ถูกจับกุม หรือถูกส่งตัวไปยังศาลได้ทันเวลา ทั้งสองคดีก็จะหมดอายุความทันทีและโอกาสในการแสวงหาความยุติธรรมจากรัฐก็จะสิ้นสุดลงเช่นกันสำหรับญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บก็จะสิ้นสุดลงโดยขาดความเป็นธรรมต่อไป


อ้างอิง: https://www.ilaw.or.th/articles/45135


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง