รู้จักโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส

รู้จักโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส

53109 ม.ค. 68 12:15   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ทำความรู้จักเชื้อเอนเทอโรไวรัส หลังมีข่าวเด็กหญิงอายุ 3 ขวบเสียชีวิตปริศนา ก่อนที่ สสจ.ชุมพรจะออกมาชี้แจงสาเหตุ

(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท)

จากข่าวการเสียชีวิตของเด็กหญิงอายุ 3 ขวบ ที่ จ.ชุมพร เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสที่หัวใจ โดยแพทย์ได้แถลงว่าเกิดจากเชื้อ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งเป็นโรคที่มักพบในเด็กและสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ หากไม่ระมัดระวังการแพร่กระจายของเชื้อ


โรคติดเชื้อเอนเทอโทไรไวรัส (Enterovirus Disease) เกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโร ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในสถานที่แออัด เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล โรคนี้สามารถหายได้เอง และพบการระบาดได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนชื้น โดยส่วนใหญ่เกิดในช่วงฤดูฝน หรือช่วงที่มีอากาศเย็นและชื้น


อาการของโรคติดเชื้อเอนเทอโทไรไวรัส


เชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัสมีทั้งหมด 68 สายพันธุ์ก่อให้เกิดอาการของโรคต่างกัน ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดโรคในเด็กซึ่งเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง เช่น โรคมือ เท้า ปาก บางสายพันธุ์สามารถก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงได้ เช่น โรคโปลิโอ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น สำหรับอาการที่พบเจอได้บ่อย เช่น


1.แผลในคอหอย มีไข้ เจ็บคอ มีตุ่มพองใสขนาด 1 - 2 มิลลิเมตรบนฐานซึ่งมีสีแดง กระจายอยู่บริเวณคอหอย และตุ่มพองใสจะขยายกลายเป็นแผลคล้ายแผลร้อนใน โดยมากพบที่บริเวณด้านหน้าของต่อมทอนซิล เพดานปากด้านหลัง ลิ้นไก่ และต่อมทอนซิล และมักเป็นอยู่นาน 4 - 6 วัน หลังเริ่มมีอาการมีรายงานพบว่าอาจพบอาการชักจากไข้สูงร่วมได้ร้อยละ 5 แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต


2.โรคมือ เท้า ปาก แผลในปากค่อนข้างกระจายกว้างในช่องปาก กระพุ้งแก้ม และเหงือก รวมทั้งด้านข้างของลิ้น ลักษณะตุ่มพองใสอาจอยู่นาน7 - 10 วัน และจะมีผื่นหรือตุ่มพองใส เกิดที่บริเวณฝ่ามือ นิ้ว และฝ่า หรือบริเวณก้น โดยทั่วไปหายได้เอง พบน้อยมากที่ทำให้เสียชีวิตในเด็กทารก


3.คออักเสบ มีต่อมน้ำเหลืองโต มีแผลที่ค่อนข้างแข็ง นูน กระจาย มีตุ่มก้อนสีขาวหรือเหลืองขนาดประมาณ 3 - 6 มิลลิเมตรอยู่บนฐานรอบสีแดง และพบมากบริเวณลิ้นไก่ ด้านหน้าต่อมทอนซิล และคอหอยด้านหลัง แต่ไม่พบผื่นหรือตุ่มพอง


ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-5 วัน และการวินิจฉัยสามารถทำได้จากการเพาะเชื้อจากตัวอย่างต่างๆ เช่น อุจจาระ หรือแผลในปาก


การแพร่เชื้อเกิดจากการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย และมาตรการป้องกันโรครวมถึงการล้างมือบ่อย ๆ และการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล รวมถึงการลดความแออัดในสถานที่ต่าง ๆ หากพบการระบาดให้แยกผู้ป่วยและทำความสะอาดสถานที่สัมผัสของผู้ป่วยอย่างละเอียด


การรักษา

ยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคนี้ การรักษาจะเป็นไปตามอาการ เช่น การลดไข้และการบรรเทาอาการเจ็บปาก โดยทั่วไปโรคจะหายได้เอง


อาการที่ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

- ไข้สูง โดยเฉพาะมากกว่า 39 องศา และนานกว่า 48 ชั่วโมง

- กระสับกระส่าย ร้องกวนตลอดเวลา

- อาเจียนบ่อยๆ รับประทานอาหารไม่ได้หรือได้น้อยมาก

- มีอาการทางระบบประสาท ได้แก่ ซึม การกรอกตาที่ผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ไม่รู้สึกตัว ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แขนขาอ่อนแรงฉับพลัน เดินเซ

- ตัวลาย ซีด

- หายใจหอบเหนื่อย


การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การมีสุขลักษณะที่ดีและการรับวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงจากเชื้ออีวี 71


ข้อควรทราบ เด็กที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงจากเชื้ออีวี 71 เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้ออีวี 71 แต่ยังมีโอกาสป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปากได้ เนื่องจากไวรัสกลุ่มนี้มีหลายสายพันธุ์


ข้อมูลอ้างอิง: https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/735

https://www.pidst.or.th/A241.html

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง