6 วิธี สอนลูกไม่ให้ “ติดแกลม”
6 วิธี สอนลูกไม่ให้ “ติดแกลม”

ในยุคโซเชียลมีเดีย การเลี้ยงลูกให้มีความมั่นคงในตัวเองและไม่หลงไปกับกระแส เป็นเรื่องสำคัญ กรมสุขภาพจิตแนะนำ 6 วิธีสอนลูกไม่ให้ “ติดแกลม”
(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)
"ติดแกลม" หมายถึง การหลงใหลในสิ่งที่ดูสวยงาม หรูหรา หรือของที่มีราคาสูง โดยคำว่า "แกลม" มาจากคำว่า Glamorous ที่แปลว่า น่าดึงดูด มีเสน่ห์ และสามารถดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้าง ซึ่งมักสะท้อนถึงความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีเพื่อได้รับการยอมรับจากสังคม
ในยุคที่เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน การเลี้ยงลูกให้สามารถใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างมีสติเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ลูกติด “แกลม” หรือเสพติดภาพลักษณ์ที่ดูดีในโลกออนไลน์ จนลืมมองความสำคัญของตัวเอง การสอนลูกให้เข้าใจการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีความรับผิดชอบ จะช่วยให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงในตัวเอง รู้จักสร้างคุณค่าในตัวเอง มากกว่าการแข่งขันหรือการพยายามเอาใจคนอื่น
การพัฒนาความมั่นใจจากภายในและการเน้นการสร้างคุณค่าในตัวเองจะช่วยให้ลูกสามารถรับมือกับสิ่งยั่วยุในโลกดิจิทัลได้อย่างมีสติ ไม่หลงไปกับกระแสที่ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น การสอนให้เขารู้จักใช้เวลาและโฟกัสไปที่การพัฒนาตัวเอง จะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขในแบบของตัวเอง แต่คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้ลูกไม่ติดแกลม วันนี้เรามีคำตอบให้
1.ฝึกการออมและการใช้เงินอย่างมีค่า
สอนให้ลูกเข้าใจความสำคัญของการออมเงิน และการใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด แทนที่จะซื้อของเพื่อเอาใจคนอื่น หรือทำตามกระแส
2.ให้รู้จักการแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น
ปลูกฝังให้ลูกเห็นคุณค่าของการให้และช่วยเหลือผู้อื่น แทนที่จะโฟกัสแค่การมีสิ่งของหรือความพึงพอใจจากสิ่งที่ตัวเองมี
3.เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
หลีกเลี่ยงการโชว์ของฟุ่มเฟือยหรือพฤติกรรมโอ้อวดบนโซเชียลมีเดีย พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สื่อออนไลน์ และแนะนำลูกให้โพสต์อย่างเหมาะสม
4.ส่งเสริมความมั่นใจ จากภายใน
ชื่นชมความสามารถและ ความพยายามของลูก แทนการ ชมจากรูปลักษณ์หรือสิ่งของ
5.ชี้ให้เห็นความจริงของโลกโซเชียล
ให้ลูกเห็นว่าคนจํานวนมากจะเปิดเผยแค่เพียงด้านบวกของตนเอง ปิดบังด้านลบ เราจึงเห็นแค่ภาพที่สวยงามด้านเดียว
6.สร้างกิจกรรมทางเลือกที่เหมาะสม
ชวนลูกทํากิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬา หรือทํางานศิลปะ เพื่อลดการหมกมุ่น กับโซเชียลมีเดีย
การเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การใส่ใจ ให้เวลา และการสอนให้ลูกเข้าใจคุณค่าของตัวเอง จะทำให้พวกเขาไม่หลงไปกับกระแสหรือติดแกลม และสามารถสร้างความสุขจากภายในได้
แหล่งที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข