ย้อนอ่าน 6 ประเด็นในคำร้อง “ทักษิณ” ล้มล้างการปกครอง
ย้อนอ่าน 6 ประเด็นในคำร้อง “ทักษิณ” ล้มล้างการปกครอง
ย้อนอ่าน 6 พฤติการณ์ ที่ถูกระบุในคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เอาผิด “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” กระทำการล้มล้างการปกครอง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติวันนี้ว่ารับคำร้องหรือไม่
(22 พ.ย. 67) ในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุม เพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย (พท.) เลิกการกระทำใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หลังจากที่เมื่วันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา อัยการสูลสุดได้มีความเห็นว่ากรณีที่ร้องมานั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ทำให้ทางอัยการสูงสุดไม่ได้รับคำร้องคดีดังกล่าวไว้ แต่ก็ไม่ตัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหากจะพิจารณาคำร้องดังกล่าวต่อไป
โดยในคำร้อง นายธีรยุทธ ได้ระบุ 6 พฤติการณ์ ของนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย ที่อาจเข้าข่ายการล้มล้างฯ ได้แก่
กรณีที่ 1 ทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้ เหลือโทษจำคุก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจให้เอื้อประโยชน์ ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว
เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
กรณีที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ
ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์ กับ สมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU2544) เพื่อแบ่ง ผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
กรณีที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
กรณีที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
กรณีที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ
กรณีที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยว่า ทั้ง 6 กรณีผู้ถูกร้องทั้งสอง ได้มีการกระทำอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมืองหรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
และ ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง การกระทำดังกล่าวทั้งสองประการ
เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศและสถาบันพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลมมิให้ไฟกองเล็กกระพรือโหมไหม้รุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป
จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้
1. ให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
2. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2
3. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
4. ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
5. ให้พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
6. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2
7. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1
8. ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
คดีนี้เป็นที่จับตาของคอการเมืองกันมาก เพราะนอกจาก 8 ข้อที่นายธีรยุทธได้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายทักษิณและพรรคเพื่อไทยได้หยุดการกระทำต่างๆ แล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและมีคำตัดสินว่านายทักษิณได้ทำตามที่นายธีรยุทธชี้ประเด็นไว้จริง ก็อาจจะเป็นหินก้อนแรกที่จะนำไปสู่คดียุบพรรคเพื่อไทย ในความผิดที่ปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาครอบงำพรรคอีกด้วย