6 ขั้นตอนปฐมพยาบาลอาการ “ฮีทสโตรก” จากอากาศร้อนจัด

6 ขั้นตอนปฐมพยาบาลอาการ “ฮีทสโตรก” จากอากาศร้อนจัด

32127 มี.ค. 68 10:18   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

อากาศร้อนจัดแบบนี้รู้เอาไว้ปลอดภัยกว่า แนะวิธีสังเกตอาการผู้ป่วยฮีทสโตรก และ 6 ขั้นตอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ดูเหมือนจะร้อนมากขึ้นในทุกๆ วัน อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ข่าวที่เราเห็นบ่อยครั้งคือการเสียชีวิตจากอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะคนที่ต้องออกไปทำงานกลางแจ้ง ต้องอยู่ในอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน


ข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รวบรวมรายงานการเสียชีวิตที่อาจจะเกี่ยวข้องกับความร้อนจากภาวะอากาศร้อนในปี พ.ศ. 2567 พบรายงานผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 63 ราย เป็นเพศชาย 54 ราย และเพศหญิง 9 ราย อายุระหว่าง 30 – 95 ปี (เฉลี่ย 62 ปี) ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 25 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อนสูงที่สุด ร้อยละ 54 นอกจากนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 51 ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด


โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรกนี้เกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้ เมื่อเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นไปเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต กล้ามเนื้อ และระบบหมุนเวียนโลหิต หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีก็สามารถทำอันตรายได้ถึงชีวิต


อาการของผู้ป่วยฮีทสโตรก: หน้าแดง มีไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ไม่มีเหงื่อ กระหายน้ำ ปวดหัว หน้ามืด เมื่อยล้า หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ชัก เพ้อ กล้ามเนื้อเกร็ง หมดสติ รูม่านตาขยาย ปัสสาวะมีสีเข้มจากการสลายของกล้ามเนื้อ


วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยฮีทสโตรก:


  1. พาเข้าที่ร่ม
  2. ให้นอนราบ ยกขาสูงทั้ง 2 ข้าง
  3. ถอดเสื้อผ้าออก หรือคลายเสื้อผ้าออกให้มากที่สุด
  4. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว
  5. ใช้น้ำแข็งประคบตัว ตามซอกคอ ขาหนีบ รักแร้
  6. รีบพาส่งโรงพยาบาลถ้าอาการไม่ดีขึ้น


สำหรับวิธีการป้องกันตัวเองไม่ให้ต้องป่วยด้วยฮีทสโตรกในช่วงหน้าร้อนนี้ ให้เลี่ยงการออกแดดหรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด, พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่ารอดื่มเมื่อรู้สึกกระหาย แต่ให้คอยจิบน้ำเป็นระยะ


ถ้าต้องออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานให้ดื่มน้ำชั่วโมงละ 2-4 แก้ว, สวมเสื้อผ้าสีอ่อน เนื้อผ้าโปร่ง โล่ง ระบายอากาศและความร้อนได้ดี, หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย



ที่มา:

https://www.rajavithi.go.th/rj/?p=23546


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat