เตือนภัย! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้าง บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เตือนภัย! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้าง บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เตือนภัย! มิจฉาชีพแอบอ้าง บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ส่งอีเมลหาโปรดักชั่นเฮ้าส์-สตูดิโอถ่ายภาพ อ้างเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ หลอกให้กดลิงก์ ตรวจสอบหลักฐานการละเมิด
(13 ส.ค.67) ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย ซึ่งประกอบกิจการสตูดิโอรับถ่ายภาพ แห่งหนึ่ง เข้ามาว่า ถูกมิจฉาชีพแอบอ้าง บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ส่งอีเมลส่งหา อ้างเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ หลอกให้กดลิงก์ เพื่อตรวจสอบหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์
นางสาวศิริกาญจน์ น้องสาวเจ้าของสตูดิโอถ่ายภาพบุคคล โปรไฟล์ สินค้า ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เล่าว่า เมื่อช่วงเวลาประมาณ 8 โมงเช้า ของวันที่ 10 สิงหาคม 2567 ทางสตูดิโอ ได้รับอีเมล แอบอ้างว่าเป็นบริษัท “เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” โดยมีโลโก้ของช่องเวิร์คพอยท์ และระบุหัวข้อว่า “Workpoint Entertainment ขั้นตอนการเรียกคืนทรัพย์สินในข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา” พร้อมกับแจ้งคำเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์ กล่าวหาว่าบริษัทของตนเองนั้น ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของทางช่องเวิร์คพอยท์ โดยใส่ชื่อบริษัทของตนเองอย่างถูกต้อง พร้อมกับแนบไฟล์ ระบุชื่อว่า “หลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์” เพื่อให้กดลิงก์ทำการตรวจสอบ และมีการระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล ของบริษัทเวิร์คพอยท์ แนบท้ายมาด้วย
ซึ่งหลังจากที่ตนเองได้รับอีเมลดังกล่าวนั้น ได้มีการกดลิงก์ไฟล์ที่แนบมาเพื่อจะเข้าไปตรวจสอบ ว่าทางสตูดิโอของตนเอง ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ใด กับบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ แต่ปรากฏว่าเมื่อกดเข้าไปแล้ว ลิงก์ดังกล่าวถูกบล็อกโดยเบราว์เซอร์ และไม่สามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดได้
จากนั้นทางบริษัทของตนเองก็ได้มีการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลของบริษัทว่าที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่ รูปภาพ วิดีโอ หรือเพลง ที่อาจจะเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ของทางช่องเวิร์คพอยท์หรือไม่ แต่ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบดูแล้ว ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าทางบริษัทของตนเองไม่ได้กระทำละเมิด และเริ่มเอะใจว่า ชื่ออีเมลต้นทางที่ส่งมาหาบริษัทตนเองนั้น ไม่ตรงกับอีเมลบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ที่แนบท้ายมาด้วย แต่เนื่องจากในวันดังกล่าว ที่ตนเองได้รับอีเมลมานั้น ตรงกับวันหยุด ตนเองจึงยังไม่ได้มีการโทรศัพท์ตรวจสอบกับทางบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์โดยตรง
กระทั่งในวันนี้ (13 สิงหาคม 2567) ตนเองโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ และได้พูดคุยกับฝ่ายกฎหมายของบริษัท เพื่อส่งรายละเอียดข้อมูล เป็นอีเมลที่ตนเองได้รับไปให้กับทางบริษัท ก็ได้รับคำยืนยันจากฝ่ายกฎหมายของบริษัทเวิร์คพอยท์ ว่าไม่ใช่อีเมลจากบริษัทอย่างแน่นอน และคาดว่าเป็นมิจฉาชีพนำชื่อบริษัทมาแอบอ้าง
ทั้งนี้ ตนเองเชื่อว่า มิจฉาชีพน่าจะใช้วิธีการแอบอ้างบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ และเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทที่มีกิจการใกล้เคียงกับช่องเวิร์คพอยท์ เนื่องจากบริษัทของตนเองเปิดเป็นสตูดิโอรับถ่ายภาพ อาจทำให้มิจฉาชีพคิดได้ว่าเป็นกิจการที่ใกล้เคียงกัน และอาจจะสามารถหลอกได้
ตนเองจึงอยากออกมาเตือนภัย ว่าหากใครได้รับอีเมลลักษณะเดียวกันกับที่บริษัทของตนเองได้รับนั้น ให้มีการโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทต้นทาง คือบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ โดยตรง และอย่าหลงเชื่อกดลิงก์ ที่มิจฉาชีพแนบมาด้วย เพราะอาจทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้ามาแทรกแซงข้อมูลของบริษัทได้ ครั้งนี้โชคดีที่ตนเองยังไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด หลังจากนี้จะมีการไปแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ขอให้ระมัดระวัง มิจฉาชีพนำชื่อบริษัทไปแอบอ้าง หากได้รับอีเมลแอบอ้างในลักษณะดังกล่าวนั้น ให้มีการตรวจสอบอีเมลต้นทางให้ดีก่อน หรือหากมีข้อสงสัย ขอให้ติดต่อบริษัทโดยตรง.