บช.น.แจงชัดคอร์ดสอน"นศ.จีน"ไม่ใช่หลักสูตรอาสาฯตำรวจ
บช.น.แจงชัดคอร์ดสอน"นศ.จีน"ไม่ใช่หลักสูตรอาสาฯตำรวจ
บช.น.แจงชัดคอร์ดสอน"นศ.จีน"ไม่ใช่หลักสูตรอาสาฯตำรวจ ย้ำชัดจะเป็นได้ต้องผ่านการฝึกอบรม ตร. เท่านั้น
(2ม.ค.68) กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ออกมาชี้แจงกรณีการจัดอบรมนักศึกษาชาวจีน เพื่อเป็นอาสาสมัครตำรวจ โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ได้รับรายงานจาก กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ซึ่งได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ปรากฏรายละเอียด ดังนี้
1.ผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 รายงานว่า มหาวิทยาลัยสยาม ได้จัดอบรมหลักสูตร"แจ้งข่าวอาชญากรรม"และให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองแก่นักศึกษาต่างชาติ โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมและขอความร่วมมือจาก กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เป็นที่ปรึกษา แนะนำให้ความรู้ ทาง ผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงมอบหมายให้ พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ช่วงวงศ์ รองผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เป็นผู้ประสานงาน โดยมหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดการอบรม ใช้งบประมาณและสถานที่ตามที่มหาวิทยาลัยสยามกำหนด
2.จากการตรวจสอบทราบว่า มหาวิทยาลัยสยาม ได้มีหนังสือ ที่ 13DECC2567CHI1ac1 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2567 โดยมี Dr.LI ZHANG ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม เป็นผู้ลงนาม ถึง ผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 จัดทำโครงการฝึกอบรมนักศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม จำนวน 30 คน และขอความอนุเคราะห์จัดวิทยากรพิเศษบรรยาย โดยมี พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ช่วงวงศ์ รองผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เป็นผู้ประสานงานและผู้ร่วมพัฒนาร่างโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดอบรมและออกค่าใช้จ่าย และมีการออกใบประกาศเกียรติคุณ ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ให้แก่ผู้ผ่านการอบรม ว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นสมาชิกแจ้งเหตุข่าวอาชญากรรม และการจราจร ด้านการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและประชาชน ลงนามโดย Dr.LI ZHANG ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม และผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3
3.ตามระเบียบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วม ในกิจการตำรวจ พุทธศักราช 2551 ผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้าน หรืออาสาจราจร ต้องผ่านการคัดเลือกจากสถานีตำรวจและสถานีตำรวจเป็นผู้จัดทำโครงการฝึกอบรม โดยมีการเกณฑ์การคัดเลือกจากผู้มีสัญชาติไทยและอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือชาวต่างชาติที่สมรสกับคนไทยและมีถิ่นที่อยู่อาศัยอันเป็นปกติในเขตพื้นที่สถานีตำรวจ ต้องมีการรับรองจากบุคคลที่เชื่อถือได้หรือตำรวจรวม 3 คน ปฏิบัติหน้าที่ได้ คราวละ 2 ปี ซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งทาง กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ไม่ได้เป็นผู้จัดอบรม แต่อย่างใด
4.สำหรับการใช้เครื่องหมายราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งการใช้สัญลักษณ์ตัวอักษร CIB ระบุว่า ตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้ทำการตรวจสอบว่าได้รับอนุญาตให้ใช้หรือไม่ อย่างไร อีกส่วนหนึ่ง หากพบว่ามีการนำเครื่องหมายราชการไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อให้คนที่พบเห็นเข้าใจว่าทำงานในหน่วยงานนั้น ๆ ก็เข้าข่ายกระทำผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 มาตรา 6 และ 8 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท
5.เบื้องต้น ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 ได้มีคำสั่ง กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ที่ 1/2568 ลงวันที่ 2 มกราคม 2568 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมี พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ วันที รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 เป็นประธาน หากพบว่ามีการกระทำผิดวินัย จะได้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวข้องต่อไป
กองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอเรียนให้ทราบว่า การอบรมให้ความรู้ในการแจ้งข่าวอาชญากรรมและในการป้องกันตัวเองแก่ประชาชน ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งสามารถขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปเป็นวิทยากร ให้ความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป และกฎหมายเบื้องต้น รวมทั้งทักษะในการป้องกันตัวได้
แต่ทั้งนี้การที่จะเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้าน หรือ อาสาจราจร จะต้องผ่านการฝึกอบรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีคุณสมบัติ ตามระเบียบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พุทธศักราช 2551 เท่านั้น
ที่มา : บช.น.
ข่าวเวิร์คพอยท์23