PM 2.5 กลับมาแล้ว ค่าฝุ่น กทม.พุ่งติดอันดับโลก
PM 2.5 กลับมาแล้ว ค่าฝุ่น กทม.พุ่งติดอันดับโลก
ค่าฝุ่น PM 2.5 กทม.เช้านี้พุ่งติดอันดับ 7 ของโลก มาตรวัดขึ้นสีส้ม-แดงทั่วกรุง “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” กางมาตรการเตรียมรับมือปี 2568
(25 ต.ค. 67) เข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ประเทศไทยเตรียมเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 อีกครั้ง ตรวจสอบเว็บไซต์ IQAir จัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ เช้านี้กรุงเทพมหานครติดอันดับ 7 ของโลก มีดัชนีค่าอากาศอยู่ที่ 129 อยู่ในระดับสีส้ม ขณะที่บนแผนที่แสดงคุณภาพอากาศทั่วกรุงเทพพบจุดที่มีคุณภาพอากาศระดับสีส้มและสีแดง กระจายเต็มพื้นที่
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความเตือนเรื่องค่าฝุ่น PM 2.5 จะพุ่งสูงในช่วงวันที่ 24-27 ต.ค. นี้ พร้อมทั้งเปิดแผนมาตรการรับมือปัญหาฝุ่นในปี 2568 โดยระบุว่า
“เตือน...เฝ้าระวัง‼️ ฝุ่น PM 2.5 กทม.-ปริมณฑล พุ่งสูง 24-27 ต.ค.นี้ เตรียมมาตรการรับมือระยะยาวทั้งประเทศ ถึงต้นปี 2568
.
📌ขณะนี้ เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองจะสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้จัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568”
.
มาตรการฯ ปี 2568 จะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด โดยการปฏิบัติการมีดังนี้
.
1. จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด
.
2. จัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐ และมุ่งเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
.
3. จัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา
4. ควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุม ผู้ลักลอบเผาในเขตชุมชนและริมทาง
.
5. จัดการหมอกควันข้ามแดน ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟ ในประเทศเพื่อนบ้าน
.
6. บริหารจัดการภาพรวม จะเร่งรัดการของบกลางสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ PM2.5 มีนโยบายการ Work From Home ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต
.
7.สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อาสาสมัคร สถาบันการศึกษา และชุมชน
.
และสำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการดำเนินงานตามมาตารการฯ โดยเฉพาะการควบคุมการระบายฝุ่นจากยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่ชุมชนและริมทาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ทั้งในมิติการส่งเสริมและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเตรียมพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุข การ Work From Home การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้กับพี่น้องประชาชน และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai”