เตรียมระบายน้ำจาก 'เขื่อนสิริกิติ์' หลังปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 10 ปี

เตรียมระบายน้ำจาก 'เขื่อนสิริกิติ์' หลังปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 10 ปี

19724 ก.ย. 67 16:15   |     AdminNews

'เขื่อนสิริกิติ์' จ่อระบายน้ำเพิ่ม หลังความจุเกิน 85% เยอะที่สุดรอบ 10 ปี เตรียมรองรับน้ำเหนือไหลเข้าอีก 500 ล้าน ลบ.ม. - มั่นใจสถานการณ์น้ำปีนี้จะไม่เหมือนกับปี 2538

วันที่ 24 กันยายน 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุบิน เนตรสว่าง ผู้ช่วย ผอ.เขื่อนสิริกิติ์-1 (ช.อขส-1.) เปิดเผยว่า เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และสามารเก็บกักน้ำได้ 9510 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม เป็นต้นมา พื้นที่เหนือเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะ จ.น่าน ส่งผลให้มวลน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์และ เก็บกัก ณ ปัจจุบัน(วันที่ 24 ก.ย.67) มีระดับน้ำอยู่ที่ 156.82 เมตร รทก. มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 8,216.89 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 86.40 เป็นปริมาณน้ำพร้อมใช้งาน 5,366 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เขื่อนสิริกิติ์เก็บกักมากที่สุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักสูง 9,048 ล้าน ลบ.เมตร 

ทั้งนี้เขื่อนสิริกิติ์ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,293 ล้าน ลบ.ม. จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ลดลง โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ อีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.สำหรับแผนการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 24 – 29 กันยายน 2567 มีแผนการระบายน้ำวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. เฉลี่ย 230 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดไว้ที่ 1250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งที่ผ่านมาเขื่อนสิริกิติ์เคยระบายน้ำเต็มพิกัด 60 ล้าน ลบ.เมตร ในปี 25338 และ 2554 เป็นปีที่น้ำเต็มอ่างเก็บน้ำ 

ทั้งนี้ด้วยท้ายเขื่อนสิริกิติ์ มีฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้แม่น้ำสาขาต่างๆ รวมไปถึงน้ำป่าไหลลงสู่แม่น้ำน่านท้ายเขื่อนสิริกิติ์ด้วย จึงอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น หากการพยากรณ์อากาศพบว่ามีการก่อเกิดของพายุและมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น จะมีโอกาสต่อการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยมีคณะกรรมการร่วมกันหารือในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำภาวะวิกฤต ที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมบริหารจัดการ อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันวิเคราะห์ ติดตาม และประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขอให้มั่นใจว่า ปัจจุบัน เขื่อนสิริกิติ์ยังมีพื้นที่รองรับน้ำได้เพียงพอสำหรับช่วงปลายฤดูฝนนี้ ประกอบกับปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำทำได้อย่างเป็นระบบ ทำให้มั่นใจได้ว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้จะไม่เหมือนกับปี 2538 อย่างแน่นอน 

ด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนสิริกิติ์ มีการติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน มีเจ้าหน้าที่ตรวจวัดพฤติกรรมของเขื่อนเป็นประจำทุกสัปดาห์ และทุกเดือนแล้ว และในภาวะเช่นนี้ ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากฝ่ายบำรุงรักษาโยธา กฟผ. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน โดยมีแผนการตรวจติดตามระหว่างวันที่ 2 – 4 ตุลาคม 2567 จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าเขื่อนสิริกิติ์ ยังคงมีความมั่นคงแข็งแรงดี สุดท้ายนี้ขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า ณ วันนี้เขื่อนสิริกิติ์ได้กักเก็บปริมาณน้ำไว้ใช้การในปีถัดไปได้เป็นอย่างดีและเพียงพอ สำหรับการอุปโภค-บริโภค การเกษตรกรรม การประมง รวมถึงการรักษาสภาพสมดุลของระบบนิเวศทางด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์ และหากเกิดภาวะวิกฤตขึ้น เขื่อนสิริกิติ์จะมีการสื่อสารร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการไปยังพี่น้องประชาชนได้รับทราบต่อไป


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง