"อนุทิน"สั่งผู้ว่าฯ 3 จังหวัดภาคกลาง เฝ้าระวังน้ำท่วม
"อนุทิน"สั่งผู้ว่าฯ 3 จังหวัดภาคกลาง เฝ้าระวังน้ำท่วม

"อนุทิน"สั่งผู้ว่าฯ 3 จังหวัดภาคกลาง เฝ้าระวังน้ำท่วม กำชับวางแผนเบิกงบช่วย ปชช.ให้โปร่งใส พร้อมถูกตรวจสอบ
(1มิ.ย.68) เวลา 10.00 น. ที่ โรงแรมสุพร แกรนด์ โฮเต็ล อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมามอบนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และการแจ้งเตือนสาธารณภัยในระดับพื้นที่ จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดชัยนาท โดยมี นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะฯ
นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า อ่างทองมีพื้นที่จุดน้ำท่วมซ้ำซาก จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ , อำเภอไชโย , อำเภอเมืองอ่างทอง และอำเภอป่าโมก มีสาเหตุน้ำท่วมในพื้นที่มีสาเหตุหลักมาจากน้ำเหนือที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ต่าง ๆ แล้วไหลลงสู่ลำน้ำ
นายชวนินทร์ กล่าวต่อไปว่า จากการคาดการณ์โดยกรมชลประทานในช่วง 1 - 3 วันข้างหน้า ที่สถานีซีสอง (C.2) อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,300 - 1,400 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1,500 - 1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีการระบายน้ำ ผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,000 - 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.50 - 1.00 เมตร โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ซึ่งจังหวัดอ่างทองจะเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง , จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดชัยนาท เตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม โดยมีสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยแต่ละจังหวัด นายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ ถุงยังชีพ และที่พักพิงชั่วคราว เพื่อจะช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ส่วนกรณีเมื่อเกิดน้ำท่วมทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่กล้าเบิกงบประมาณลงมาช่วยประชาชนที่ถูกน้ำท่วม เพราะเกรงจะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ตรวจสอบ นายอนุทิน กล่าวว่า ได้สั่งการให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ทำแนวทางให้ชัดเจน พร้อมลงไปกำกับ การตัดสินใจของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือ ข้าวปลาอาหาร ที่พักอาศัยในระดับชุมชน ซึ่งจะรวดเร็วกว่าทางจังหวัดลงไป
"ถ้าเราทำด้วยความโปร่งใสแล้วทางมหาดไทยจะให้การช่วยเหลือเมื่อถูกตรวจสอบ พร้อมวิงวอนไปยังหน่วยงานตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบช่วยมองภาพรวมว่าเจตนาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วจะหาความผิดให้ได้ ตอบเรื่อง กอไก่ ได้แล้วมาเรื่อง ขอไข่ คอควาย งองู จนถึง ฮอ นกฮู ถ้าแบบนี้ไม่กล้าใช้ดุลยพินิจ" นายอนุทิน กล่าว
ข่าวเวิร์คพอยท์23