“ดร.เอ้” ลงวิเคราะห์ตึกถล่ม คาดต้องกู้ซากนานนับเดือน
“ดร.เอ้” ลงวิเคราะห์ตึกถล่ม คาดต้องกู้ซากนานนับเดือน

“ดร.เอ้” ลงวิเคราะห์ตึกถล่ม คาดต้องกู้ซากนานนับเดือน ระบุไทยขาดประสบการณ์ พร้อมส่องโพสต์เตือนแล้วต้นปีก่อน เทียบญี่ปุ่นรับมือแผ่นดินไหว
(29 มี.ค.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้สวันนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกรและอดีตนายกวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่มาตรวจสอบที่เกิดเหตุตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ริมถนนกำแพงเพชรสอง ตรงข้ามตลาดนัดจตุจักร ที่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวช่วงบ่ายวานนี้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ตนพร้อมช่วยเหลือรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ซึ่งประเทศไทยไม่มีประสบการณ์แผ่นดินไหว ที่มีตึกถล่มถึง 30 ชั้นมาก่อน เคยมีเพียงแค่เหตุการณ์ตึกถล่ม 6-7 ชั้นเท่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่รับมือในการปฏิบัติการครั้งนี้ได้ยาก ดังนั้น ต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศที่มีความรู้จากประสบการณ์จริง คือ ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่ตอนนี้ก็มีคนเสนอความช่วยเหลือมาแล้ว เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับทางญี่ปุ่น ถ้าหากว่ามีอะไรที่ตนช่วยตนก็ยินดี
จากการลงพื้นที่ เห็นชัดว่าการปฏิบัติการนั้นไม่มีเครื่องมือที่เพียงพอ เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร หน่วยกู้ภัยและหน่วยงานทุกคนต่างก็ทุ่มเท แต่การกู้ซากแบบนี้จะต้องมาพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทีมวิศวกรอาสาได้ประชุมที่ศาลากลางแล้ว เพื่อเสนอแนวคิดต่างๆ
“ลักษณะการพังทลาย เหมือนอาคารระเบิด ย้ำว่าเป็นเหตุการณ์ผิดปกติที่มันพัง เนื่องจากตึกอื่นไม่พัง อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ สิ่งที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุดคือช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ภายใน โดยทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะต้องปลอดภัยด้วย และจะต้องมีการเก็บข้อมูลไปพร้อมกันให้ได้มากที่สุด เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่โทษหรือว่าตำหนิใคร” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ในส่วนที่บริษัทต่างประเทศเข้ามาสร้างตึกภายในประเทศไทยนั้น ตนอยากให้มองด้วยว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยมีบริษัทต่างประเทศมาสร้างตึกแล้วประสบความสำเร็จ โดยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์สูญเสียเกิดขึ้น แต่ไม่อยากให้ตัดประเด็นนี้ทิ้ง รวมทั้งเรื่องของการทุจริตด้วยเช่นกัน
“อย่างไรก็ตาม ประชาชนคนไทยต้องยอมรับว่า ไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตแผ่นดินไหว โดยเฉพาะแนวเลื่อนศรีสวัสดิ์ แนวเลื่อนสกาย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากรอยเลื่อนใหญ่ของเมียนมา ทางรัฐบาลต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ต้องเรียนรู้ที่จะต้องเผชิญเหตุอยู่กับแผ่นดินไหวและต้องปรับตัว”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ ยังได้วาดแผนผังลักษณะของโครงสร้างตึก พร้อมกับอธิบายการพังทลายของตึกที่ผิดปกติ ตึกดังกล่าวที่มีเสาเข็ม เสาข้าง มีลิฟต์ที่เป็นเหมือนกระดูกสันหลัง โครงสร้างคาน เชื่อมต่อกับกระดูกสันหลังและคานสำคัญ เมื่อเสาข้างล่างแตก ก็มีความผิดปกติอย่างชัดเจน ส่วนฐานรากใต้ดินจะเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ แต่มองว่าการกู้ซากตึกถล่มนี้อาจใช้เวลาเป็นเดือน
โดยก่อนหน้านี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (28 มี.ค.68)โดยเป็นการรีโพสต์เดิม เนื้อหาเกี่ยวกับ ข้อควรปฎิบัติหากเกิดแผ่นดินไหว ตามที่เขียนไว้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2567 ระบุ แผ่นดินไหวใหญ่ญี่ปุ่น เขาทำอย่างไร หากเกิดใกล้กรุงเทพ เราจะรับมือไหวหรือ? ยกกรณีแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.6 ที่ จ.อิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ในวันแรกของปี 2567 เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน คนนับแสนต้องอพยพ ระบบไฟฟ้าและน้ำประปาใช้งานไม่ได้ ทั้งอาฟเตอร์ช็อกเกิดต่อเนื่องอีกมากกว่า 50 ครั้ง ญี่ปุ่นรับมืออย่างไร ตนมีคำตอบ
จ.อิชิกาวะ อยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงโตเกียว คล้ายกับที่ จ.กาญจนบุรี อยู่ทางตะวันตกของกรุงเทพฯ ระยะทางก็ไม่ต่างกันมาก และมี "รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์" และ "รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์" ที่อาจเคลื่อนตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง อยู่ตรง จ.กาญจนบุรี ถึง จ.สุพรรณบุรี ใกล้กรุงเทพฯนิดเดียว หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ระดับ 6-7 ขึ้นที่ตรงนั้น กทม.จะรับมือไหวไหม จะรับมืออย่างไร ตนยังไม่เห็นแผนปฏิบัติการณ์ใดๆ ทั้งระบบการเตือนภัยและการกู้ภัย อย่าล้อเล่นเพราะหากไม่เตรียมการ ความสูญเสียจะหนักหนามากขนาดไหน ไม่กล้าคิด เพราะแม้แต่ จ.พิษณุโลก แทบไม่เห็นรอยใหญ่เลย ยังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปีที่แล้ว ช็อกมาก ดังนั้น โอกาสเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.กาญจนบุรี-จ.สุพรรณบุรี ส่งแรงสั่นสะเทือนทำลายล้างมาถึงกรุงเทพฯ เป็นไปได้แน่นอน
ขณะที่ แผ่นดินไหวญี่ปุ่นครั้งนี้ แม้รุนแรงมากมีผู้เสียชีวิต ตึกถล่มเสียหายหนัก แต่การ "เตือนภัย" และ "การกู้ภัย" ได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศอย่างยิ่ง ตนเคยไปอบรมเรื่องการจัดการสถานการณ์แผ่นดินไหว ที่ญี่ปุ่น สนับสนุนโดย JICA หรือ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น จึงขอสรุปเป็นแนวทางว่าญี่ปุ่นทำอย่างไรบ้าง
1. ติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว ครอบคลุมจุดเสี่ยงทุกจุด เพราะไม่มีจุดวัด กว่าจะรู้สึกภัยก็ถึงตัว นาทีเดียวก็สายเกินไป
2. ส่งสัญญาณเตือนภัยอัตโนมัติ เข้าโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องทั่วประเทศทันที หลังจากเกิดแผ่นดินไหว พร้อมแนะนำขั้นตอนการปฎิบัติตัว แยกตามพื้นที่และชี้ทางไปศูนย์อพยพทันที
3. ศูนย์บัญชาการเหตุ เกิดขึ้นได้ทันทีในวินาทีแรก เพราะเตรียมการล่วงหน้าไว้ มีขั้นตอนการบังคับบัญชา และการเบิกจ่ายงบประมาณชัดเจน จึงพร้อมส่งทีมและอุปกรณ์ช่วยชีวิต เข้าพื้นที่อย่างมีระบบ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
4. ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อศูนย์บัญชาการหรือหน่วยกู้ภัย หรือเพื่อนบ้านได้ตลอดเวลา ไม่ถูกโดดเดี่ยวเพราะระบบสัญญาณสื่อสารเคลื่อนที่ ที่เข้าพื้นที่ได้รวดเร็วจะเปิดช่องรับสัญญาณเพิ่มเติมทันที
5. ทีมทหาร ทีมพลเรือน และทีมอาสาสมัคร จะได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นด้วยกัน เพื่อเตรียมรับมือแผ่นดินไหว จะเสริมกัน ไม่ถ่วงไม่เป็นภาระ ไม่แย่งซีนกันทำงาน แบ่งหน้าที่ชัดเจน
6. สื่อฯญี่ปุ่นจะร่วมกันเสนอข่าว เพื่อลดความตื่นตระหนก และหลีกเลี่ยงประเด็นที่อาจก่อให้ความขัดแย้งในพื้นที่ เรื่องนี้ตอนตนไปอบรมกับ JICA ได้ให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ในโพสต์ดังกล่าว ดร.สุชัชวีร์ ระบุทิ้งท้ายว่า ขอตั้งข้อสังเกตเป็นคำถามไว้ ด้วยความห่วงใย เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวขี้นใกล้กรุงเทพ แล้วเราไม่พร้อม จะมาขอโทษกันไม่ได้ เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้น คงไม่มีใครชดใช้ได้ - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อีกแล้ว! ศูนย์ราชการฯ อาคาร A สั่งอพยพอีกรอบเพราะตึกสั่นสะเทือน ธพส.เข้าตรวจบอกไม่กระทบโครงสร้างหลัก ใช้งานได้ปกติ

"ชัชชาติ" ให้กำลังใจทีมกู้ภัยไทยและทีมนานาชาติ ลุยต่อเนื่อง เพิ่มเครนยักษ์ 4 ตัว ยกซากอาคารเปิดทางค้นหาผู้รอดชีวิต
