'ตร.ไซเบอร์' ยื่นอัยการสูงสุดหลักฐานเอาผิดคลิปเสียง 'ฮุน เซน'

'ตร.ไซเบอร์' ยื่นอัยการสูงสุดหลักฐานเอาผิดคลิปเสียง 'ฮุน เซน'

68014 ก.ค. 68 11:31   |     AdminNews

'ตร.ไซเบอร์' นำสำนวนคลิปเสียงฮุนเซน-นายกฯ ยื่นอัยการสูงสุดพิจารณาตั้งคณะ หลังพบการกระทำผิดด้านความมั่นคงของราชอาณาจักร -พรบ.คอมฯ

14 ก.ค.68 พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 หอบสำนวนคดีคลิปเสียงสมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา คุยกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองที่มาแจ้งความไว้ มามอบให้พนักงานอัยการสูงสุด 


โดยพล.ต.ต.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบ เฟสบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “Samdech Hun Sen of Cambodia” ที่มีการโพสต์ข้อความและปล่อยคลิปเสียง พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน เบื้องต้นพบว่าผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวอยู่ในประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรไทย โดยตามประมวลกฎหมายอาญา ทางพนักงานสอบสวนจะต้องส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการต่อไป 


โดยเอกสารในวันนี้มีประมาณ 50 หน้า ที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 116 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 


สำหรับรายละเอียดของมาตรา 116 ” หรือ “มาตรา 116 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

       (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

       (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

       (๓) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”


โดยขณะนี้ยังเป็นคดีที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ซึ่งผลการสืบสวนสอบสวนแอดมินเพจดังกล่าวมีมากกว่า 1 คน แต่ยังไม่สามารถที่จะระบุได้ว่ามีสมเด็จฮุนเซน เป็นแอดมินร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากรายละเอียดอยู่ในสำนวนคดียังไม่สามารถเปิดเผยได้ ยืนยันไม่ได้เป็นการฟ้องแก้เกี้ยว เป็นการดำเนินการตามหน้าที่เนื่องจากมีผู้ร้อง และการสอบสวนพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ซึ่งมีพฤติการณ์โพสต์ต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์

 

ด้านนายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร จะต้องมีการตั้งพนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวน เข้าไปสอบสวนในคดีนี้ หากมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็จะส่งเรื่องกลับไปที่อัยการสูงสุดให้พิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วยก็จะดำเนินการขอศาลออกหมายจับและออกหมายแดงส่งให้อินเตอร์โพล ซึ่งอินเตอร์โพลมีภาคี 196 ประเทศ ซึ่งขั้นตอนขณะนี้จะต้องตรวจสอบสำนวนในคดีว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักรหรือไม่อย่างไร จึงจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้ ส่วนกรอบเวลายังไม่สามารถกำหนดได้ ทั้งนี้ไม่ได้กังวล แต่ต้องมีความละเอียดในการตรวจสอบ เนื่องจากเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อนทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat