โรงเรียนชายแดนซ้อมและพร้อมอพยพหากเกิดเหตุสู้รบยอมรับวิตก

โรงเรียนชายแดนซ้อมและพร้อมอพยพหากเกิดเหตุสู้รบยอมรับวิตก

86405 มิ.ย. 68 15:10   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

โรงเรียนแนวชายแดนไทย-กัมพูชาต่างตื่นตัวหลังมีข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ในเรื่องเขตแดนจนส่อจะเกิดปะทะกันหรือไม่ ได้ทำการซ้อมหลบหลุมและกำหนดเส้นทางแบ่งจุดพื้นที่อพยพแล้ว ยอมรับกังวลเพราะอาวุธปัจจุบันทันสมัยขึ้นต่างจากอดีต

(5 มิ.ย. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา เรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสามประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และลาว อยู่ในเขต"สามเหลี่ยมมรกต"พื้นที่ 12 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนอย่างเป็นทางการ ได้เกิดปะทุขึ้นมาอีกครั้ง


ตามกระแสข่าวดังกล่าว ทำให้ประชาชนในเขต อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีแนวเขตติดกับประเทศกัมพูชา มีจุดผ่อนปรนช่องสายตะกู อยู่ในพื้นที่ ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด ต่างวิตกกันไปด้วยเนื่องจากเคยมีประสบการณ์ครั้งปี 2554 ที่มีการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ซึ่งครั้งนั้นสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่พอสมควร และเกรงว่าหากเกิดการปะทะขึ้นในครั้งนี้อาจจะรุนแรงกว่าเดิม


ผู้สื่อข่าวตรวจสอบความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีแนวเขตชายแดน ฝั่ง อ.บ้านกรวดชาวบ้านยังใช้ชีวิตกันตามปกติ รวมถึงโรงเรียนก็ยังเปิดการเรียนการสอนเหมือนเดิม แต่ได้มีการปรับปรุงหลุมหลบภัยในโรงเรียน และให้นักเรียนมาซ้อมอพยพแล้ว


นางสาวอรพรินทร์ กมลชิด ผอ.โรงเรียนบ้านโคกกะชาย ต.โคกกะชาย อ.บ้านกรวด กล่าวว่า ตอนนี้โรงเรียนได้มีมาตรการคือการเฝ้าระวังตามหนังสือสั่งการของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์เขต 2 อย่างเคร่งครัด


ในการจัดการทำแผนเผชิญเหตุ มาตรการความปลอดภัยของสถานศึกษา ที่ผ่านมาได้ให้นักเรียนได้ซักซ้อมการอพยพให้ และมีการซักซ้อมแผนมาเป็นระยะ ตั้งแต่มีการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2554 


ในช่วงนี้ผู้ปกครองนักเรียนได้สอบถามมายังโรงเรียนเป็นระยะถึงสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งเราได้มีการประสานกันกับผู้นำชุมชน ผู้ปกครองกันไว้แล้วเพื่อให้เกิดความพร้อมหากมีเหตุ


นางสุภาพ วงศาจันทร์ รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสายโท 9 อ.บ้านกรวด กล่าวว่า ตอนนี้ได้มีการเชื่อมโยงกันทางโซเชียลกับชุมชนถึงหัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงผู้ปกครองเด็กให้ศึกษาเส้นทางการอพยพล่วงหน้า ยอมรับว่าน่ากลัวเพราะอาวุธปัจจุบันทันสมัยมากขึ้น


มีการวางแผนชัดเจนว่าแต่ละหมู่บ้านจะต้องวิ่งเส้นทางอพยพไปทางไหน เป้าหมายอยู่ที่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนหรือไปกระจุกรวมกันเกินไปเหมือนครั้งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 54 ส่วนความตื่นตระหนกของชาวบ้านในตอนนี้ไม่ค่อยตื่นตระหนกมากนักเพราะมีระบบโซเชียลคอยประสานกันตลอดเวลา


ขณะที่นางสาวหนูแตน อายุ 45 ปี ผู้ปกครองเด็ก ชาวบ้านในพื้นที่ ยอมรับว่ามีความวิตกกังวล เพราะครั้งที่เคยปะทะกันมีลูกระเบิดมาตกอยู่ในหมู่บ้านถึง 21 ลูก หากเกิดขึ้นในตอนนี้ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเปิดเทอมด้วย ส่วนตัวอยากจะฝากถึงรัฐบาลกัมพูชา ถ้าจะทำอะไรให้คิดถึงชีวิตมนุษย์ด้วย


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat