ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์เฝ้าระวังน้ำล้นริมเจ้าพระยาต่อเนื่อง

ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์เฝ้าระวังน้ำล้นริมเจ้าพระยาต่อเนื่อง

35803 ก.ย. 67 15:52   |     AdminNews

ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์เปิดประตูน้ำช่วยระบายรองรับมวลน้ำจากภาคเหนือ ชาวบ้านเตรียมตัวทันหากมีน้ำทะเลหนุนท่วม

เวลา 13.30 น.วันที่ 3 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นประตูน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตร ก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้

โดยในส่วนการเฝ้าระวังผลกระทบจากมวลน้ำของภาคเหนือและอาจจะมีน้ำทะเลหนุนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยทางประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำจำนวน 3 บาน ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.67 ที่ผ่านมา โดยในวันนี้เปิดการระบายสะสมมาแล้ว 344 ล้าน ลูกบาศก์เมตร อัตราการไหลเฉลี่ยไม่เกิน 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีรวมทุกบาน ตรวจสอบน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ขัยนาท ตอน 10.00 น เปิดระบายมา 1,482 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนน้ำจาก อ.บางไทร จ.อยุธยา ตอน 07.00 น. น้ำไหลเฉลี่ยอยู่ที่ 1,378 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงยังไม่ได้ผลกระทบจากน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนเจ้าพระยาและจากน้ำขึ้นเต็มที่แต่อย่างใด

ด้านนาย ศุภศักดิ์ เขียวพุ่ม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานสมุทรปราการ ได้กล่าวว่า น้ำที่มาจากทางภาคเหนือที่ผ่านสถานีวัดน้ำ C29 บางไทร ถ้าไม่เกิน3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประตูคลองลัดโพธิ์ยังสามารถระบายน้ำช่วยได้ เราเปิดประตูตามที่น้ำขึ้น น้ำลง ตามเวลาที่กำหนดอยู่ในแต่ละวัน ตอนนี้เป็นการพร่องน้ำเหนือ คาดว่าถ้าไม่มีฝนตกซ้ำในพื้นที่จะมีความมั่นใจในการระบายน้ำได้ ปีนี้เขื่อนหลักของเราสามารถยังรับน้ำได้อีกพอสมควร การพร่องน้ำด้านท้ายเป็นไปด้วยดี ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์เป็นโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนนี้ประสิทธิภาพและประตูทุกบานยังสามารถใช้งานได้ปกติ เราได้มีการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.67 เป็นต้นมายังไม่มีปัญหาในการระบายน้ำแต่อย่างใด

ชาวบ้านในพื้นที่ อ.พระประแดง ไม่กังวลถึงเรื่องมวลน้ำเหนือที่จะลงมาสู่ปากอ่าวไทย โดยชาวบ้านชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา นาย มาโนช ทรัพย์สิริ อายุ 67 ปี เล่าว่า ช่วงนี้น้ำท่วมเพราะเขาปล่อยน้ำ(เหนือ)ลงแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับมีน้ำทะเลหนุน ถ้าฝนไม่ตกหนักน้ำจะไม่ท่วม ถ้าตกแรงจะท่วม น้ำขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก็ลง ไม่เหมือนต่างจังหวัดท่วมครึ่งบ้าน ถ้าเขาปล่อยน้ำมาลงแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะมาทางนี้ ท่วมไม่กี่ชั่วโมงก็ลง ไม่ต้องแจกถุงยังชีพ ท่วมประมาณ 3 ชั่วโมงน้ำลดลงแล้ว


ในส่วนชาวบ้านในพื้นที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ โดยเฉพาะ ต.แหลมฟ้าผ่า ซึ่งเป็นตำบลสุดท้ายที่มีพื้นที่ติดกับปากอ่าวไทยได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเหนือที่ไหลผ่านมาลงทะเลทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การประมง ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลทำให้ สัตว์น้ำจำพวก หอยแครง ปูทะเล กุ้ง และสัตว์ทะเลอื่นๆ ตายเป็นจำนวนมากทำให้เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า โดย นาย นาย คำรณ รุ่งแสงนพรัตน์ อายุ 46 ปี เกษตรกร ต.แหลมฟ้าผ่าและยังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำพวก หอยเเครง ปูทะเล กุ้งทะเล.กล่าวว่า เมื่อมวลน้ำเหนือไหลลงมาสู่อ่าวไทยจะนำน้ำจืดไหลลงมาจึงทำให้สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงอยู่ในบ่อตายเป็นจำนวนมาก 


อีกทั้งยังทำให้คันดินของบ่อที่ไม่แข็งแรงจะพังลงทำให้น้ำจืดไหลเข้าไปในบ่อเป็นเหตุให้สัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ล้มตายทั้งหมด ซึ่งในการเฝ้าระวังนั้นทางประชาชนในพื้นที่ได้ติดตามสถานการณ์น้ำกันอยู่เป็นประจำและมีการเตรียมความพร้อมบ้างแล้วหากเกินความสามารถจะประสานไปยังหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือเพิ่มเติม 


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง