อัปเดต"น้ำท่วมน่าน"จมบาดาล 9 อำเภอ เฝ้าระวังน้ำขึ้น!

อัปเดต"น้ำท่วมน่าน"จมบาดาล 9 อำเภอ เฝ้าระวังน้ำขึ้น!

87523 ส.ค. 67 00:39   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

อัปเดต"น้ำท่วมน่าน"จมบาดาล 9 อำเภอ 36 ตำบล 195 หมู่บ้าน จนท.เฝ้าระวังน้ำขึ้นต่อเนื่อง

(22ส.ค.67) ที่ จ.น่าน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 20 - 22 ส.ค. ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักจนทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลัน รวมไปถึงน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 9 อำเภอ 36 ตำบล 195 หมู่บ้าน ดังนี้ 


  1. อำเภอเชียงกลาง ได้รับผลกระทบ รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน 
  2. อำเภอเฉลิมพระเกียรติได้รับผลกระทบ รวม 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน 
  3. อำเภอเวียงสา ได้รับผลกระทบ รวม 6 ตำบล 6 หมู่บ้าน 
  4. อำเภอทุ่งช้าง ได้รับผลกระทบ รวม 4 ตำบล 40 หมู่บ้าน 
  5. อำเภอบ้านหลวง ได้รับผลกระทบ รวม 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน 
  6. อำเภอท่าวังผา ได้รับผลกระทบ รวม 10 ตำบล 68 หมู่บ้าน 
  7. อำเภอนาน้อย ได้รับผลกระทบ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน 
  8. อำเภอภูเพียง ได้รับผลกระทบ รวม 4 ตำบล 35 หมู่บ้าน 
  9. อำเภอเมืองน่าน ได้รับผลกระทบ รวม 4 ตำบล 20 หมู่บ้าน 


นอกจากนี้ยังเกิดดินโคลนถล่ม ถนนหลายสายถูกตัดขาด น้ำกัดเซาะจนพังถล่ม ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนหลายครัวเรือนขาดแคลนอาหารน้ำดื่มและเครื่องอุปโภคบริโภค โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน



ขณะที่ นายเอกพัน บรรลือฤทธิ์ เจ้าของรหัส"ดารา2" นำทีมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิฯและพี่น้องอาสาสมัครฯ มูลนิธิเครือข่าย ชุดแรกร่วม 30 นาย พร้อมเรือท้องแบน อุปกรณ์ช่วยเหลือทางน้ำ เดินทางลงพื้นที่ ต.ดู่ใต้ ในเขต อ.เมือง จ.น่าน ซึ่งจุดนี้จะอยู่ติดริมน้ำมีแม่น้ำไหลผ่านสองสายคือแม่น้ำสมุนและแม่น้ำน่านรองรับน้ำมาจากอำเภอท่าวังผาที่ไหลบ่าลงมา 



โดยแผนการปฏิบัติช่วยเหลือชาวบ้านจะมีทั้งการอพยพคน ทรัพย์สินมีค่า สัตว์เลี้ยง ออกจากจุดเสี่ยงภัย พร้อมมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยการประสานงานเข้าช่วยเหลือประชาชนร่วมกับ นายกฤชเพชรท เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิฯลงพื้นที่จุดแรกที่ หมู่ที่ 13 บ้านดอนมูลพัฒนา เข้าช่วยเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง จุดนี้พบว่ามีระดับน้ำท่วมสูงราว ๆ 1 - 2 เมตร ต้องนำเรือท้องแบนเข้าไปยังพื้นที่ โดยการนำของผู้นำชุมชน 


นางพิสมัย พุฒิพงษ์ ผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า มวลน้ำได้ทะลักเข้ามาช่วงกลางดึกที่ผ่านมา และในขณะนี้ก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ บางจุดน้ำเชี่ยวมาก สูงถึง 2 เมตร บ้านส่วนใหญ่จะเป็นบ้านสองชั้น ชาวบ้านก็จะหนีน้ำขึ้นไปพักอาศัยกันที่ชั้นสอง 



"ที่เดือดร้อนในตอนนี้คือเรื่องของอาหารเพราะน้ำมาไวมาก ทุกคนเตรียมตัวไม่ทัน ไม่มีใครทันได้กักตุนอาหารไว้ และไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ ที่ต้องการมากตอนนี้คืออาหารปรุงสุกและน้ำดื่ม" นางพิสมัย กล่าว



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ยังคงต้องเกาะติดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ



ข่าวที่เกี่ยวข้อง


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง