กัมพูชาออกแถลงการณ์ยันส่ง 4 พื้นที่ เข้าสู่ศาลโลก ชี้กลไก JBC ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขอพึ่งศาลโลกชี้ขาดพิพาทชายแดน

กัมพูชาออกแถลงการณ์ยันส่ง 4 พื้นที่ เข้าสู่ศาลโลก ชี้กลไก JBC ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขอพึ่งศาลโลกชี้ขาดพิพาทชายแดน

107305 มิ.ย. 68 11:26   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

กัมพูชาออกแถลงการณ์ยันส่ง 4 พื้นที่ เข้าสู่ศาลโลก ชี้กลไก JBC ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขอพึ่งศาลโลกชี้ขาดพิพาทชายแดน เดินหน้าคุยไทยในประชุม JBC แต่จะไม่หยิบ 4 พื้นที่นี้มาหารือ

(5 มิ.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam ของวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายทหาร ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของทางกัมพูชา โดยระบุข้อความว่า กัมพูชาออกแถลงการณ์ยัน 4 พื้นที่ เข้าสู่ศาลโลก ช่องบก - ปราสาทตาเมือนธม - ปราสาทตาเมือนโต๊ด - ปราสาทตาควาย ชี้กลไก JBC ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ "ฮุน มาเนต" ยันจะไม่คุย 2 ฝ่ายกับไทย แล้วขอพึ่งศาลโลกชี้ขาดพิพาทชายแดน จับตา กัมพูชา จะร่วมประชุม JBC กับไทย 14 มิ.ย.นี้ หรือไม่



พนมเปญ – สถานการณ์ตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชายังไม่คลี่คลาย เมื่อล่าสุด พลเอก ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนชัดเจนว่า รัฐบาลของเขาจะไม่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ณ กรุงพนมเปญ พร้อมประกาศขอใช้ช่องทางทางกฎหมายระหว่างประเทศโดยการยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) แทนการเจรจาทวิภาคีกับไทย


ฮุน มาเนต ระบุว่าท่าทีนี้สอดคล้องกับแนวทางของสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภา ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนก่อน และยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองสูง โดยระบุชัดว่า กัมพูชาจะไม่ประนีประนอมในพื้นที่พิพาทสำคัญๆ อาทิ ช่องบกในเขตชายแดนอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ไปจนถึงกลุ่มปราสาทโบราณสำคัญ ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย ซึ่งทอดยาวตามแนวชายแดนกว่า 200 กิโลเมตร


ในทางกลับกัน ฝั่งรัฐบาลไทยโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่าไทยยังยึดหลักเจรจาอย่างสันติ และจะไม่ขยายกรอบการหารือไปยังพื้นที่อื่นโดยไม่จำเป็น


"เราไม่ได้เสียอธิปไตยไป และเรายังเชื่อในพลังของการเจรจาเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย…ไทยจะไม่ไล่ตามไปทุกประเด็นที่กัมพูชาขยายออกมา เราขอพูดเฉพาะจุดที่เกิดเหตุจริงๆ เท่านั้น" นายภูมิธรรมกล่าว


สำหรับข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชานั้นถือเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโบราณสถาน เช่น กรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งเคยเป็นกรณีฟ้องร้องต่อศาลโลกในอดีต และยังคงทิ้งบาดแผลทางประวัติศาสตร์และอธิปไตยไว้ทั้งสองฝ่าย


การที่กัมพูชาตัดสินใจไม่เข้าร่วม JBC ครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณของความตึงเครียดที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจบริเวณชายแดนในอนาคต

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat