พบเด็กหญิง วัย 15 ปี เรียนดี แต่บ้านยากจน ความฝันอยากเรียนสูง อาจต้องจบลงแค่ ม.3
พบเด็กหญิง วัย 15 ปี เรียนดี แต่บ้านยากจน ความฝันอยากเรียนสูง อาจต้องจบลงแค่ ม.3
ชีวิตรันทด พบเด็กหญิง วัย 15 ปี เรียนดี แต่บ้านยากจน ความฝันอยากเรียนสูง อาจต้องจบลงแค่ ม.3 เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเรียนต่อ
(31ต.ค.67) เวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่ามี ด.ญ.วัย 15 ปี ศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ฐานะยากจน ซึ่งมีความใฝ่ฝันอย่างเรียนต่อในมัธยมปลายหรือเรียนสูงเพื่ออนาคตของตนเองและครอบครัว พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.ลุมพลี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่าที่บ้านไม่มีเลขที่ ปลูกเป็นเพิงพักสังกะสี พบกับคุณครูโรงเรียนสุดินสหราษฎร์ กำลังเดินทางลงพื้นที่มาเยี่ยมครอบครัวของ ด.ญ.สรัญญา มาลาพัต อายุ 15 ปี ซึ่งอาศัยอยู่กับ น.ส.เรียม มาลาพัต อายุ 35 ปี ผู้เป็นแม่และน้องสาว โดยทางพ่อออกไปทำงาน ซึ่งมีชีพทำการซ่อมรถ
สภาพบ้านซึ่งปลูกเป็นเพิงพักสังกะสี มีประปาใช้ แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ ชาร์จแบตเตอรี่เพื่อใช้เป็นพลังงานพัดลมและแสงสว่างภายในบ้าน โดยบ้านเป็นสังกะสีผุพัง ห้องน้ำไร้หลังคา ตัวบ้านเป็นไม่ผุทรุดตามกาลเวลา
น.ส.เรียม เล่าว่า ความเป็นอยู่ปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด ลำบากมาก น้ำมี แต่ไฟไม่มี เวลาฝนตกก็นอนไม่ได้หลังคารั่ว อยู่กัน 4 คน พ่อแม่และลูก 2 คน หมา 1 ตัว ไฟในบ้านก็ใช้จากแสงมาเป็นพลังงานชาร์จไฟแบตเตอรี่ ถ้าวันไหนฝนตกไม่มีแดดก็ใช้แสงเทียน ทำกับข้าวก็ใช้เตาฟืน โดยหาเศษไม้รอบบ้านมาก่อไฟทำกับข้าว ฝนตกบางวันก็ไม่ได้หุงข้าว
น.ส.เรียม เล่าต่อไปว่า ปัจจุบันให้ลูกไปเรียนทุกวัน แต่ก่อนยอมรับน้องขาดเรียนเพราะไม่กล้าไปบอกครูว่าไม่มีเงินให้ลูกไปกินโรงเรียน เพราะเขาต้องซื้อข้าว ไม่มีเงินซื้อข้าวกินก็จะบอกให้ลูกลาครู ให้หยุดเรียนจนคุณครูมารู้ว่าน้องเป็นแบบนี้ก็ไม่ได้ถือสาอะไร ซึ่งก็เคยมีการช่วยเหลือเข้ามา เพราะไปกรมสงเคราะห์ เข้ามาให้ข้าวให้ไข่ ส่วนในพื้นที่ก็ไม่ทราบเพราะเราไม่เคยเล่าให้เขาฟัง
น.ส.เรียม เล่าต่อไปอีกว่า ซึ่งมาอยู่ตรงนี้ตั้งแต่รุ่นคุณตา กรมศิลปากรให้อยู่ในที่นี้ ส่วนไฟเคยขอแต่ต้องใช้เงินหลักหมื่นเดินไฟแต่เราไม่มี ก็ได้แต่หาแสงพลังงานใช้เวลาตอนมีแดด เวลาหน้าร้อนเหมือนตายทั้งเป็นจะพัดให้ลูก 2 คน ได้นอนกัน เงินหลักที่ใช้ก็จากแฟนประมาณ 300 – 400 บาทต่อวัน ถ้าไม่ได้ไปก็ไม่มีเงิน
"ส่วนตัวเราต้องเลี้ยงลูกคนเล็ก รวมถึงป่วยเคยผ่าตัดเนื้องอกในรังไข่ จนทุกวันนี้ก็มีอาการปวดหลัง ประกอบพื้นบ้านทรุดทำให้ทุกวันนี้นอนยากกว่าเก่าเพราะเราปวดท้องทะลุหลัง คุณหมอนัด 5 ปีให้ไปก็ไม่ได้ไปเพราะต้องเสียเงินค่าบัตรทอง 30 บาท เราก็ไม่มีและไหนจะน้ำมันรถอีก" น.ส.เรียม กล่าว
น.ส.เรียม บอกอีกว่า ทุกวันนี้สงสารแต่ลูกสาว ก็ได้แต่บอกว่าแม่กับพ่อไม่มีต้นทุนให้ หนูตั้งใจเรียน เขาก็ตั้งใจเรียนหนังสืออยากให้เขาเรียนต่อเรียนสูง ๆ จะได้มีอนาคตดีกว่าพ่อแม่ แต่ทีนี้จะจบ ม.3 แล้ว เขามาบอกว่าหนูจะได้เรียนต่ออย่างเพื่อนเขาไหม ด้วยความที่เราทางบ้านยากจน จะกินทุกวันนี้ก็ยังไม่มีเลย ถ้าหนูเรียนต่อค่าใช้จ่ายก็ต้องมี เขาก็ร้องไห้ หนูอยากเรียน แต่ไม่มีเงินที่จะส่งให้เรียนต่อว่าถ้าจบ ม.3 ให้เขาหาช่วยทำงานถ้าเขาทำงานได้ค่อยเรียนต่อก็ได้ลูก
ด้าน ด.ญ.สรัญญา บอกว่า ทุกวันนี้ลำบาก เวลาไม่มีกับข้าวกินก็ไปขอที่วัด ซึ่งหนูเป็นอิสลาม แต่หนูไม่มีจริง ๆ หนูก็เลยต้องไปขอเขา หนูอยากเรียนต่อ แต่เวลาหนูถามแม่เขาบอกว่าไม่มีตังให้หนูเรียนต่อ หนูอยากเรียนต่อเหมือนเพื่อนเหมือนคนอื่นเขา หนูไม่อยากจบแค่ ม.3 แต่หนูเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ ก็เคยท้อแท้แต่ก็ต้องสู้สงสารพ่อแม่
"ความฝันของหนู หนูขออยากเรียนต่อเกี่ยวกับบัญชี อยากสร้างซ่อมแซมบ้านให้คงที่กว่าเดิมเพราะตอนนี้บ้านทรุดผุพัง ไฟฟ้าก็อยากมีใช้ หนูไปขอเขาชาร์จแบตบ้านเพื่อน เพื่อนเขาบอกว่าแม่เขาไม่ชอบ หนูก็เลยไปห้องคอมที่โรงเรียนครูก็ให้ชาร์จได้" ด.ญ.สรัญญา กล่าว
ด้าน น.ส.สุนารี โสภารักษ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนสุดินสหราษฎร์ คนที่ 1 นางสาว วันเพ็ง ระวิพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนสุดินสหราษฎร์ คนที่ 3 พร้อมครูที่เดินทางมาวันนี้ เปิดเผยว่า เรามาทราบจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านจากครูประจำชั้นว่าเด็กมีความยากจนแต่เรียนดี ก็มีการคัดกรองไปในระบบปัจจัยพื้นฐานยากจนน้องก็ได้รับทุนยากจน ภาคเรียนละครั้ง
คณะครูฯ บอกอีกว่า ส่วนความเป็นอยู่ในโรงเรียนของเราอย่างอาหารกลางวัน แม่ครัวเข้าใจว่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ยากจน แม่ครัวก็จะขายให้เด็กมัธยมในราคา 5 บาท ทุกคน เราก็ช่วยประคับประคองให้เด็กได้ไปเรียนทุกวัน ให้เวลาเรียนเขาได้ครบ แนะนำถ้าน้องมีโอกาสได้เรียนต่อ ให้ไปเรียนที่ทำงานได้เรียนได้ เราจะได้ไม่ไปเบียดเบียนผู้ปกครอง
คณะครูฯ กล่าวต่อไปว่า แต่ด้วยทางบ้านจะมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่าชุดอะไรประมาณนี้ ซึ่งเราก็ได้ประสานหลายหน่วยงานพอมีทุนหรือการช่วยเหลือเราก็จะจัดตามความเหมาะสมให้ เพราะเราเคยมาดูและเห็นความเป็นอยู่ พยายามช่วยแต่ตอนนี้ถ้าจบ ม.3 ไปก็พ้นจากโรงเรียนแล้วอยากฝากหน่วยงานอื่นช่วยดูแลต่อ
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปองค์การบริหารส่วนตำบลลุมพลี พบกับ นายเฟซอล พลีบัตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลุมพลี และ น.ส.จุฑารัตน์ ลำเนาตระกูล นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ อบต.ลุมพลี เพื่อสอบถามถึงความเป็นอยู่ของครอบครัวและแนวทางการช่วยเหลือ
น.ส.จุฑารัตน์ เปิดเผยว่า บ้านหลังดังกล่าวได้มีการลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องร่วมกับ พมจ.พัฒนาสังคมสงเคราะห์ จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงทางด้านผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่พร้อมด้วย ท่านนายก อบต.ลุมพลี ก็ให้ติดตามถามถึงความเป็นอยู่สม่ำเสมอ รวมช่วงโควิด-19 หรืองานบุญแจกเนื้อ มีการให้ของไปมอบให้ บางครั้งโซนนั้นก็เข้ามาขอความช่วยเหลือที่ อบต.เป็นข้าวสารอาหารแห้ง
น.ส.จุฑารัตน์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการซ่อมแซมบ้านปรับสภาพที่อยู่อาศัย ในส่วนตรงนี้มีระเบียบต้องไปดูว่าเข้าหลักเกณฑ์กลุ่มเปราะบางที่โควิดยากจนหรือที่ดินสามารถที่จะปรับสภาพแวดล้อมได้หรือไหม โดยของบ้านหลังดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่ของวัดโคกพญาเป็นที่ของกรมศิลปากร ซึ่งถ้าจะปรับสภาพที่อยู่อาศัยต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากรและเคยสอบถามไปแล้ว ซึ่งเขาจะไม่ให้ปรับสภาพที่อยู่อาศัยตรงนี้
"แต่ถ้าเป็นที่ของสำนักพุทธศาสนา มีโฉนดที่เอกสารการเช่าก็ยังสามารถที่ทำเรื่องปรับสภาพแวดล้อมตรงนั้นได้ ก็อาจจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการปรับสภาพแวดล้อมได้ แต่ก็จะเป็นเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ" น.ส.จุฑารัตน์ กล่าว
น.ส.จุฑารัตน์ บอกด้วยว่า ส่วนการศึกษา การศึกษาของน้องเบื้องต้นทราบว่ายังเรียนอยู่ในชั้น ม.3 เทอมสุดท้าย ถ้าน้องเรียนจบแล้วไม่มีเงินในส่วนของค่าเล่าเรียน ก็สามารถที่จะไปเรียนส่วนทางด้านของ กศน.การศึกษานอกระบบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ซึ่งจะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ทาง อบต.จะมีการเปิดสมัครร่วมกับ กศน.เพื่อให้น้องในพื้นที่ที่มีฐานะยากจนหรือว่าทำงานอยู่แล้ว
"ไม่สะดวกจะไปเรียนก็สามารถไปเรียนกับทาง กศน.ได้โดยเราจะมีการประชาสัมพันธ์ทั้งเสียงตามสายเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของ อบต.เพื่อให้ทราบเกี่ยวกับการสมัครเรียนได้อีกช่องทาง" น.ส.จุฑารัตน์ กล่าว