ทนายดังไขข้อข้องใจ เจ้าอาวาสเอาที่ดินของวัดไปจำนองหรือขายได้หรือไม่?

ทนายดังไขข้อข้องใจ เจ้าอาวาสเอาที่ดินของวัดไปจำนองหรือขายได้หรือไม่?

194416 ก.ค. 68 11:28   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ชาวบ้านบางบัวทองสงสัย เจ้าอาวาสวัดดังรับโอนที่จากวัด ก่อนเอาไปจดจำนอง สุดท้ายทำที่ดินหลุดมือ แบบนี้ทำได้หรือไม่? “ทนายเกิดผล” ไขข้อกฎหมาย ผิดหรือไม่ผิด

(16 ก.ค. 68) ผู้สื่อข่าว จ.นนทบุรี รายงานกรณีที่เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์คลางแคลงใจของชาวบ้าน เมื่อทราบข่าวว่าที่ดินแปลงหนึ่งของวัดชื่อดังในพื้นที่ ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ถูกเจ้าอาวาสนำไปจดจำนองกับนายทุนท้องถิ่น ก่อนที่ที่ดินดังกล่าวจะหลุดจำนอง และกลายเป็นของนายทุนไป ทำให้ผู้ที่ได้ยินเรื่องดังกล่าวต่างสงสัยว่าเจ้าอาวาสสามารถทำเช่นนี้ได้หรือไม่


โดยจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีขนาด 3 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา ทางวัดซื้อมาด้วยเงินของเจ้าอาวาสรูปก่อนที่มรณภาพไป ในราคา 5 ล้านบาท เมื่อปี 2551 โดยที่ดินดังกล่าวเป็นที่ตาบอดและอยู่ติดกับทางด้านหลังของวัด


จากนั้นทางวัดได้โอนชื่อที่ดินแปลงนี้ให้เป็นชื่อของพระมหารูปหนึ่ง ซึ่งภายหลังพระมหารูปนี้ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด โดยที่พระมหารูปดังกล่าวไม่ได้โอนที่ดินให้กลับเป็นชื่อวัดแต่อย่างใด แต่ได้นำที่ดินผืนดังกล่าวไปจำนองกับนายทุนในพื้นที่ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นขายฝากในปี 2555 และที่ดินวัดผืนนี้หลุดมือไปเป็นของนายทุนในที่สุด และเมื่อทางวัดต้องการที่จะซื้อที่ดินดังกล่าวคืน เจ้าของที่ดินคนปัจจุบันได้ตั้งราคาขายตามราคาประเมินที่ดิน ที่อยู่ที่ไร่ละ 10 ล้านบาท ทำให้ที่ดินดังกล่าวมีราคาสูงถึง 30 ล้านบาท


หลังเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น เจ้าอาวาสรูปนั้นได้ขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสและออกจากวัดไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และย้ายไปอยู่วัดต่างจังหวัด โดยอดีตเจ้าอาวาสเคยบอกกับมัคทายกวัดว่าเป็นเพราะตนเองบริหารการเงินของวัดผิดพลาด ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น ตนเสียใจอย่างมาก


ขณะที่เจ้าอาวาสปัจจุบันที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 3 เดือน บอกว่าเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ตรวจสอบบัญชีของวัดพบว่าวัดแห่งนี้มีภาระหนี้สินอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากวัดก็ไม่ได้มีรายได้อะไร เพียงแค่บริหารวัดให้มีรายได้ไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟไม่ให้ถูกตัดก็ลำบากแล้ว


ทีมข่าวเวิร์คพอยท์23 ได้สอบถามประเด็นข้อกฎหมายของกรณีดังกล่าวกับทนายเกิดผล แก้วเกิด ว่าเจ้าอาวาสวัดสามารถนำที่ดินของวัดไปจำนองหรือซื้อขายได้หรือไม่ และผู้ที่รับซื้อที่ดินต่อนั้นมีโทษทางกฎหมายหรือไม่


ทนายเกิดผลระบุว่าสำหรับกรณีนี้จุดที่ต้องพิจารณาคือ การเปลี่ยนมือจากวัดไปที่เจ้าอาวาสนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด และเป็นไปโดยชอบหรือไม่ โดยที่ดินที่ซื้อด้วยเงินของเจ้าอาวาสรูปก่อนที่มรณภาพไป ถือว่าเป็นที่ดินของวัดอย่างแน่นอน หากในตอนที่ซื้อนั้นมีการใส่ชื่อของพระมหารูปดังกล่าวเป็นผู้รับโอนที่ดินไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ในภายหลังพระมหารูปดังกล่าวจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ของที่ดินแปลงดังกล่าวคืนให้กับวัด ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายยักยอกทรัพย์ได้


แต่ถ้าหากการโอนที่ดินให้กับพระมหารูปดังกล่าว เกิดขึ้นหลังการซื้อขายไปแล้ว โดยเป็นการโอนกรรมสิทธิ์จากวัดไปที่พระ จะต้องตรวจสอบว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากการโอนที่ดินของวัดไปให้บุคคล จะต้องมีการพิจารณาอนุญาตจากสำนักงานพระพุทธศาสนาเสียก่อน


หากกระบวนการโอนที่ดินดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง มีเอกสารสิทธิ์อย่างถูกต้อง ก็สามารถทำธุรกรรมซื้อขายหรือจำนองได้ แต่ถ้าหากกระบวนการโอนกรรมสิทธิ์จากวัดไปให้พระมหาเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การซื้อขายหรือจำนองนั้นก็ถูกบอกเลิกเป็นโมฆะได้เช่นกัน


สำหรับนายทุนที่รับซื้อหรือรับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว หากที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ทำธุรกรรมกับพระที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์(พระที่มีชื่อในโฉนด) ก็ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat