‘อเมริกา’ จะไม่ทน! คนนับล้านลุกฮือประท้วงขับไล่ ‘ทรัมป์’
‘อเมริกา’ จะไม่ทน! คนนับล้านลุกฮือประท้วงขับไล่ ‘ทรัมป์’

อเมริกันชนนับล้านลุกขึ้นประท้วง “โดนัลด์ ทรัมป์” และคู่หูมหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์” ให้ปล่อยมือจากอำนาจ ยุตินโยบายขวาจัดที่ส่งผลกระทบรุนแรง ทั้งเรื่องการตั้งกำแพงภาษี, การตัดสวัสดิการ, และนโยบายด้านผู้อพยพและความหลากหลาย การประท้วงมีขึ้นใน 1,400 เมืองทั่วสหรัฐฯ และในเมืองใหญ่หลายเมืองทั่วโลก
(7 เม.ย. 68) เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา(ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) ประชาชนหลายล้านคนทั่วสหรัฐฯ และนานาประเทศออกมาร่วมชุมนุมในการประท้วงครั้งใหญ่ภายใต้ชื่อ “Hands Off!”(ปล่อยมือซะ!!) เพื่อต่อต้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ โดยมีจุดยืนเรียกร้องให้หยุดการ “ยึดอำนาจของมหาเศรษฐี” และยุติการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
การประท้วงจัดขึ้นพร้อมกันกว่า 1,400 จุดทั่วสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการรัฐสภา ศาลากลาง สำนักงานรัฐบาลกลาง หรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ พร้อมกันกับในเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น ลอนดอนและปารีส โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 600,000 คน ตามข้อมูลจากกลุ่ม Indivisible ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายหลักที่ขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน กลุ่มแรงงาน กลุ่มสตรี LGBTQ+ และทหารผ่านศึก
ผู้จัดงาน “Hands Off!” ยื่นข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
- ยุติการแทรกแซงและคอร์รัปชันจากกลุ่มมหาเศรษฐี(มัสก์)ในรัฐบาล
- ยุติการตัดลดงบประมาณสำหรับโครงการประกันสุขภาพ Medicaid, โครงการประกันสังคม Social Security และโปรแกรมอื่นๆ สวัสดิการรัฐอื่นๆ ที่ประชาชนต้องพึ่งพา
- ยุติการโจมตีผู้อพยพ คนข้ามเพศ และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ
ประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมการประท้วงในครั้งนี้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความไม่พอใจต่อนโยบายขวาจัดและระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลทรัมป์
“ฉันโกรธมาก โกรธตลอดเวลา ผู้ชายผิวขาวที่มีอภิสิทธิ์บางคนซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ กำลังควบคุมประเทศของเรา มันไม่โอเคเลย” ไชนา เคสเนอร์ ศิลปินวัย 43 ปีในนิวยอร์กกล่าว ขณะร่วมขบวนเดินในใจกลางแมนฮัตตัน
ที่กรุงวอชิงตัน ผู้ประท้วงรวมตัวกันที่ National Mall โดยมีนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองหลายคนขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบัน อาทิ เจมี ราสกิน ตัวแทนรัฐแมริแลนด์ กล่าวประณามทรัมป์ว่า “เป็นผู้นำที่มีแนวทางการเมืองแบบมุสโสลินี และเศรษฐกิจแบบฮูเวอร์” พร้อมย้ำว่า “รัฐธรรมนูญไม่ได้เริ่มต้นด้วยคำว่า ‘พวกเราผู้เผด็จการ’ แต่คือ ‘พวกเราประชาชน’”
ขณะที่ อิลฮาน โอมาร์ ตัวแทนรัฐมินนิโซตา ระบุว่า “หากเรายังเชื่อในความยุติธรรมและอนาคตของลูกหลาน เราต้องลุกขึ้นสู้” ส่วนแม็กซ์เวล ฟรอสต์ ตัวแทนรัฐฟลอริดา กล่าวเตือนถึง “การเพิ่มขึ้นของลัทธิอำนาจนิยมที่ขับเคลื่อนโดยมหาเศรษฐีและบริษัทยักษ์ใหญ่”
ไดแอน โคลิฟราธ ไกด์ทัวร์จักรยานวัย 64 ปี กล่าวว่า “เรามีคนจากนิวแฮมป์เชียร์ราว 100 คนที่เดินทางมากับรถบัสและรถตู้ เพื่อประท้วงรัฐบาลที่สร้างความเสียหายทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ พวกเขากำลังรื้อทำลายรัฐบาลของเรา”
ที่ลอสแอนเจลิส หญิงรายหนึ่งแต่งกายเป็นตัวละครจากนิยายดิสโทเปีย The Handmaid’s Tale พร้อมโบกธงขนาดใหญ่ที่เขียนว่า “Get out of my uterus”(หยุดยุ่มย่ามมดลูกของฉัน) เพื่อแสดงออกต่อนโยบายต่อต้านการทำแท้งของทรัมป์
ที่เดนเวอร์ ชายคนหนึ่งถือป้ายเขียนว่า “No king for USA” สะท้อนความไม่พอใจต่อแนวโน้มอำนาจนิยม
“พวกเรามาที่นี่เพื่อต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์” โดมินิก ซานเทลลา ผู้ประท้วงในบอสตันกล่าว “เราจะไม่ยอมให้เขาจับกุมใครโดยไร้เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นคนอพยพหรือใครก็ตาม”
การประท้วงยังขยายไปยังเมืองหลวงในยุโรป เช่น ลอนดอนและเบอร์ลิน โดยที่ลอนดอน ลิซ แชมเบอร์ลิน ผู้ถือสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษ กล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา คือปัญหาของทั้งโลก มันคือความบ้าคลั่งทางเศรษฐกิจ เขากำลังจะลากพวกเราทั้งหมดเข้าสู่ภาวะถดถอย”
ขณะที่ในเบอร์ลิน ซูซานน์ เฟสต์ วัย 70 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า “ทรัมป์ทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ คนคนนี้มันบ้าไปแล้ว”
การออกมาประท้วงในครั้งนี้เป็นผลจากความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลทรัมป์ โดยเฉพาะนโยบายลดขนาดรัฐบาลกลาง การเลิกจ้างข้าราชการนับแสนคน และการยุบหน่วยงานสำคัญ เช่น USAID ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
อีลอน มัสก์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากระทรวง "Government Efficiency" ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการผลักดันให้ลดงบประมาณภาครัฐ พร้อมบิดเบือนข้อมูลสาธารณะ และถึงขั้นประกาศว่าได้ “บด” หน่วยงาน USAID ไปแล้ว
ด้านสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้รับสวัสดิการกว่า 73 ล้านคน ก็ถูกปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ส่งผลให้เกิดความโกลาหลภายใน ขณะที่นโยบายด้านผู้อพยพก็เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงแผนการเนรเทศหมู่ แม้จะเกิดข้อผิดพลาด เช่น การส่งตัวชาวเอลซัลวาดอร์กลับประเทศโดยไม่ตั้งใจ
ในขณะที่รัฐบาลแสดงท่าทีแข็งกร้าว กลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะกรณีการจับกุม มาห์มูด คาลิล ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกเพิกถอนกรีนการ์ดจากการเข้าร่วมประท้วงที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งจุดกระแสคำถามว่าประชาชนยังสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้จริงหรือไม่
ทางด้านผู้นำแรงงานกลางจากสหพันธ์พนักงานรัฐบาลกลางแห่งชาติ (NFFE) และสหพันธ์พนักงานรัฐบาลกลางอเมริกัน (AFGE) ต่างวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ว่า “ทำลายบริการสาธารณะ” และ “เป็นการโจมตีสิทธิในการเจรจาร่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ”
(Photo by ETIENNE LAURENT / AFP)
(Photo by Frederic J. Brown / AFP)
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนร้ายจุดระเบิดรถยนต์สังหารนายพลรัสเซียใกล้กรุงมอสโก ก่อน 'ปูติน' ถกสันติภาพรัสเซีย-ยูเครนกับทูตพิเศษสหรัฐฯ
