ตร.โคราช ทลายแก๊งสแกมเมอร์ อ้างเป็น ผอ.ปปง.หลอกนักศึกษา ป.เอก สูญเงินกว่า 2 แสนบาท
ตร.โคราช ทลายแก๊งสแกมเมอร์ อ้างเป็น ผอ.ปปง.หลอกนักศึกษา ป.เอก สูญเงินกว่า 2 แสนบาท

ตร.โคราช ทลายแก๊งสแกมเมอร์ อ้างเป็น ผอ.ปปง.หลอกนักศึกษา ป.เอก สูญเงินกว่า 2 แสนบาท เผยเครือข่ายซับซ้อน-ตรวจยึดเงินสดกว่า 2.8 ล้านบาท
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 16 ก.ค 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 3 สภ.โพธิ์กลาง จ.นครราชสีมา พล.ต.ท.วัฒนา ยี่จีน ผบช.ภ.3 , พล.ต.ต.ไพโรจน์ ขุนหมื่น ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา , พ.ต.อ. ราชศักดิ์ ญานอุบล รอง ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา , พ.ต.อ.วีณวัฒน์ ศรีแย้ม ผกก.สภ.โพธิ์กลาง , พ.ต.ท.สมาน เชาว์มะเริง รอง ผกก.สส. และ พ.ต.ท.ชัยพล คงขุนทด สว.สส.ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุมแก๊งมิจฉาชีพ “แกมเมอร์” หลังร่วมกันหลอกนายบูรณ์พิภพ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี ชาวเชียงราย นักศึกษา ป.เอก มหาวิทยาลัยดังใน จ.นครราชสีมา สูญเงินไปกว่า 250,000 บาท
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถสามารถจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 5 ราย ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน" และ "นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จฯ" พร้อมตรวจยึดเงินสดกว่า 2,800,000 บาท และเอกสารธุรกรรมทางการเงินจำนวนหนึ่ง ผู้ต้องหาประกอบด้วย
- นายศรัณย์ หรือ “ผอ.กอล์ฟ” (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร สวมชุดเจ้าหน้าที่ ปปง.
- นายภมรเทพ (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี ชาวพิษณุโลก สวมเสื้อคลุมทหารบก
- นายศุภโชค (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร
- น.ส.ภิชญาดา (สงวนนามสกุล) อายุ 49 ปี ชาวลพบุรี
- น.ส.นรินทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ชาวชัยภูมิ
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.68 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ต้องหาได้โทรศัพท์ไปหาผู้เสียหาย อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แจ้งว่าบัญชีของผู้เสียหายมีส่วนพัวพันยาเสพติด ก่อนจะหลอกให้ผู้เสียหายวิดีโอคอล ผ่านไลน์ กับผู้ต้องหาที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐ จากนั้น ได้โอนสายไปยังบุคคลที่อ้างตัวเป็น ผอ.กอล์ฟ ผอ.ปปง.ซึ่งแสดงเอกสารปลอม พูดจาน่าเชื่อถือและข่มขู่ให้ผู้เสียหายโอนเงินกว่า 250,000 บาท เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ก่อนที่ผู้เสียหายจะรู้ตัวว่าถูกหลอกและเข้าแจ้งความ
โดยขบวนการนี้ มีการแบ่งหน้าที่เป็นระบบ จากสืบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่า แก๊งนี้เป็นเครือข่ายอาชญากรรมที่มีโครงสร้างชัดเจน มีหัวหน้าใหญ่ ควบคุมคำสั่งและการเบิกถอนเงิน ฝ่ายบัญชี ปรับวงเงินและจัดการบัญชีม้า ฝ่ายเลขานุการ รายงานยอดเงินประจำวัน คนเลี้ยงม้า จัดหาบัญชีม้า การ์ด คุ้มกันบัญชีม้าเวลาตระเวนกดเงิน และม้าศึก ทำหน้าที่กดเงินตามจุดต่างๆ ผู้ต้องหาจะพากันไปกดเงินตามห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เปลี่ยนที่พักบ่อยครั้งเพื่อเลี่ยงการจับกุม
นายบูรณ์พิภพ ผู้เสียหาย เล่าว่า อยู่ดีๆก็มีเบอร์ของเอไอเอส โทรมาบอกว่าตนเปิดเบอร์โทรในนามชื่อตน ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง สาขาแกลง จ.ระยอง ได้ให้เบอร์โทรศัพท์ตนโทรหาเจ้าหน้าที่ สภ.แกลง จนตกใจเนื่องจากไม่ได้ทำจึงต้องการจะขอหลักฐานในการยืนยันความบริสุทธิ์ จาก สภ.แกลง จึงได้โทรศัพท์ไปตามเบอร์ที่ให้มา
เมื่อโทรไป ปลายสายให้แอดไลน์มา โดยบอกว่า ในช่วงโรคโควิดระบาดสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ โดยการวีดีโอคอล ตนจึงได้แอดไลน์เข้าไปพร้อมกับวีดีโอคุย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในสายแจ้งว่า ตนได้เปิดบัญชีม้าอีกประมาณ 2-3 บัญชีใน จ.ระยอง จากนั้น ให้ตนยืนยันความบริสุทธิ์ โดยโอนสายไปหาตำรวจอีกคน เพื่อยืนยันตัวตนโดยการนำบัตรประชาชนยืนยันตัวตน
จากนั้น มีการแจ้งว่าจะมีการส่งเรื่องให้ ปปง.โดยอ้างว่า ปปง.เป็นผู้รับผิดชอบในคดีฟอกเงิน ก่อนจะมีการให้ตนแอดไลน์ ปปง.อีกรอบ ตนก็แอดไลน์ไป พร้อมกับให้บล็อกไลน์เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แกลง เนื่องจากอ้างว่า เป็นคดีความลับพิเศษ และเมื่อคุยไลน์กับเจ้าหน้าที่ ปปง.ได้นำเอกสารต่างๆอ้างว่า ตนมีความผิดหากต้องการยืนยันความบริสุทธิ์ ว่าไม่ได้เป็นบัญชี ให้ตนยืมเงินจากพ่อแม่ญาติพี่น้องมาใส่ในบัญชีตนเอง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์
ตนจึงได้ยืมเงินมาประมาณ 250,000 บาท จากนั้น ก็ถูกเกลี้ยกล่อม หลอกให้โอนเงินไปอีกบัญชีอ้างว่าเพื่อตรวจสอบ เสร็จแล้วยังแจ้งอีกว่าบัญชีอื่นยอดเงินยังไม่พอที่ต้องการ บอกให้ตนไปหาหยิบยืมมาอีก อย่างน้อยต้องได้ 400,000 บาท ตนกำลังจะไปยืมเงินมาอีก 100,000 แต่ฉุกคิดได้ว่า "ทำไมเราต้องยืนยันตัวตนเช่นนี้" จึงรีบเข้ามาแจ้งความ แต่สุดท้ายโดนหลอกไป 250,000 บาทในการโอนรอบแรก
ด้าน พล.ต.ท.วัฒนา เปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.ในการปราบปรามขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ พร้อมเตือนประชาชน หากได้รับสายหรือมีผู้ติดต่ออ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนตัดสินใจโอนเงิน หรือโทรแจ้งสายด่วน 191 และศูนย์ PCT สำนักงานตำรวจแห่งชาติ - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน