"โรม"เผยผลการประชุม กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ปัญหาชายแดนกัมพูชา
"โรม"เผยผลการประชุม กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ปัญหาชายแดนกัมพูชา

"โรม"เผยผลการประชุม กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ปัญหาชายแดนกัมพูชา ย้ำต้องเตรียมความพร้อมหากขึ้นศาลโลก โดยจะเชิญ ก.ต่างประเทศ นักวิชาการ ร่วมถกกันในวันที่ 26 มิ.ย. นี้
(12มิ.ย.68) ที่ รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป แถลงภายหลังการประชุม ว่า เบื้องต้นได้มีการพูดคุยกันถึงการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ในทุกมิติ รวมถึงประเมินความเป็นไปได้ในหลายทาง ซึ่งทาง กมธ.เห็นพ้องต้องกัน ในยุทธศาสตร์และการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอลเซ็นเตอร์
"ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญทาง กมธ.ได้ให้คำแนะนำกับทางรัฐมนตรีว่ารัฐบาลสมควรที่จะเพิ่มมิติที่เกี่ยวกับการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาของฝั่งไทย อีกส่วนหนึ่งถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญในอุตสาหกรรมที่มีผลต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา อีกทั้งเป็นการสร้างแต้มต่อที่สำคัญให้ฝั่งไทย" นายรังสิมันต์
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องศาลโลก แน่นอนว่ากัมพูชาพยายามยกระดับความขัดแย้งไปสู่การใช้กลไกศาลโลกแน่นอน ทาง กมธ.ได้เสนอแนะว่า มีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ไม่สามารถประมาทได้ หลังจากมีประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารเราเองก็ได้มีการถอนตัวในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะวางใจได้ เราทราบว่า กัมพูชามีการเตรียมความพร้อมมาเป็นเวลานานแล้วในเรื่องของการเตรียมการขึ้นสู่ศาลโลก
"ทางประเทศไทยต้องเตรียม ทั้งนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ไปจนถึงกลไกที่อาจจะจำเป็นต้องใช้ เราเชื่อว่า ทางฝ่ายกัมพูชาจะเอาทุกกระบวนการไปใช้ประโยชน์เพื่อเรื่องศาลโลกอย่างแน่นอน ไทยต้องมีการเตรียมทั้งตั้งรับและเชิงรุก" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า อีกเรื่องที่สำคัญคือ หลุมหลบภัย หรือบังเกอร์ต้องยอมรับว่ากัมพูชา มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมากกว่าเดิมค่อนข้างมาก ส่งผลให้มีศักยภาพในการยิงระยะไกลกว่าเดิม แม้เราจะมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย แต่การเตรียมการของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญ ทาง กมธ.ได้ให้คำแนะนำว่า นายกรัฐมนตรีมีงบกลางในการที่จะดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการที่จะต้องเร่งสร้างหลุมหลบภัยให้เพียงพอกับความต้องการ และก็ให้สามารถที่จะตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
“เราไม่รู้ว่าวันที่ 14 มิ.ย. จะจบอย่างไร แต่ว่าสิ่งที่เราเริ่มเตรียมการได้คือการทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยของเราปลอดภัยที่สุด เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของหลุมหลบภัย แล้วในเรื่องของงบประมาณ ไม่ต้องไปบอกให้หน่วยงานไหนทำอะไร เอานายกรัฐมนตรีเลย ท่านต้องสั่งการในเรื่องนี้” นายรังสิมันต์กล่าว
เมื่อถามถึงความเป็นไปว่าการประชุม JBC จะถูกเลื่อนหรือยกเลิกหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าทางกัมพูชาจะไม่เอาเรื่องที่มีความขัดแย้งอย่างปราสาททั้ง 3 และอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทางกัมพูชาพยายามบอกว่าเป็นพื้นที่ของเขา เช่น บริเวณช่องบก มาพูดคุยตามที่กัมพูชายืนยัน
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า แต่ทางเราตนคิดว่าอย่างไรเราก็ต้องคุยไม่เช่นนั้นก็จะหาทางออกไม่ได้ และต้องยืนยันด้วยว่าถ้าเราดูจากเอ็มโอยู 43 ก็มีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ โดยเราต้องใช้กลไกทวิภาคีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะเป็นผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่แค่ฝ่ายไทยเท่านั้น เพราะคือเครื่องมือ ที่จะลดความขัดแย้งได้จริง
"ส่วนการไปสู่ศาลโลกหรือกรณีใดก็แล้วแต่นั้น สุดท้ายเรามีบทเรียนแล้ว ในเรื่องของปราสาทเขาพระวิหารว่าไม่ได้จบจริง มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องใช้กลไกทวิภาคี" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า อีกทั้งเราควรที่จะมองหาในเรื่องของการร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ หากทางกัมพูชาไม่ใช้กลไกทวิภาคี ก็จะทำให้สุดท้ายแล้ว กัมพูชาจะยังตกเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ โดยเฉพาะในเรื่องมิติเศรษฐกิจเอง เพราะเราต้องไม่ลืมว่ากลไกอย่างเรื่องคอลเซ็นเตอร์นั้น สร้างความเสียหายให้กับผู้คนทั่วโลกจริง ๆ
"เม็ดเงินที่เกิดขึ้นก็ต้องยอมรับว่ากัมพูชาปล่อยให้มีการตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะปฏิเสธการไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ เพราะแม้ในวันที่ตั้งอาจจะไม่รู้ แต่เมื่อตอนนี้รู้แล้ว และก็มีหลายจุด จะปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นจึงมีหลายมิติที่ตนคิดว่าประเทศไทยสามารถที่จะหยิบยกไปพูดคุย ไม่จำเป็นต้องพูดคุย แค่เฉพาะในเรื่องของ 3 ปราสาทกับ 1 พื้นที่ซับซ้อนเท่านั้น ยังมีอีกหลายจุด เพื่อนำไปสู่การทำให้ ไม่มีโอกาสที่จะเกิดการขัดกันทางอาวุธ หรือลดโอกาสที่จะเกิดการขัดกันทางอาวุธออกไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำ
"เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่า ทางฝ่ายกัมพูชามีการเสริมกำลังค่อนข้างมาก ส่วนในมิติการพูดคุย วันนี้เราก็ต้องชื่นชม โดยเฉพาะ พลตรี ณัฏฐ์ ศรีอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเจรจา จนกัมพูชายอมถอย" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า และเป็นส่วนสำคัญในการพูดคุย เพื่อทำให้บรรยากาศที่ร้อนแรงลดลงไป แต่หากถามว่า ลดลงไปทั้งหมดหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีงานที่เราต้องทำอีกเยอะ ในการที่จะลดความร้อนแรง ไม่ใช่แค่ลดในเรื่องของเงื่อนไขทางทหาร เพราะไม่ใช่ทุกอย่าง อาจจะเป็นหนึ่งในกลไกที่กัมพูชามองว่า มีส่วนที่เขาอาจจะได้เปรียบบางอย่าง ไม่ใช่ความหมาย คือการแพ้ชนะ แต่รวมไปถึงการใช้กลไกอย่างศาลด้วย
"สิ่งสำคัญคือ กัมพูชาต้องการที่จะยกระดับไปสู่ศาลโลก เพราะเขาคิดว่าเขาสามารถใช้กลไกนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องทำ คือทำให้กลายเป็นการพูดคุยกับทวิภาคี ต้องมีการวางไพ่ ในแต่ละใบ วันนี้เราก็คงต้องช่วยกันสนับสนุน โดยเฉพาะการทำงานของผู้ปฏิบัติหน้างาน รวมถึงฝ่ายนโยบาย ที่จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้ให้ได้" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 26 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ทาง กมธ.จะมีการหารือเพื่อเตรียมการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาลโลก รวมถึงจะมีการติดตามเรื่องคอลเซ็นเตอร์ และจะเชิญทั้งกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงนักวิชาการที่เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย
ข่าวเวิร์คพอยท์23
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วินาทีสลด! หญิงวัย 75 ขี่ซาเล้งย้อนศรถูกรถชนดับ ก่อนรถคู่กรณีพุ่งชนกระบะและจยย.เจ็บระนาว รถเสียหายหลายคัน

ชาวบ้านเกษตรกรกำแพงเพชรไม่พอใจ"ไอซ์ รักชนก"ยื่นหนังสือถึงพรรคประชาชน กรณีโพสต์งบประมาณปี 2569 ของจังหวัดฯ

อดีตนายกฯ “ทักษิณ” เข้าร่วมหารือกับ “ทีมไทยแลนด์” และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ถกแนวทางรับมือสหรัฐฯภาษีนำเข้าไทย 36%
