‘ทรัมป์’ ตั้งกำแพงภาษี ไทยอ่วมเจอ 36% นักเศรษฐศาสตร์แนะ 3 ทางโต้

‘ทรัมป์’ ตั้งกำแพงภาษี ไทยอ่วมเจอ 36% นักเศรษฐศาสตร์แนะ 3 ทางโต้

63403 เม.ย. 68 09:16   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

อึ้งกันทั้งโลก! “ทรัมป์” ปรับกำแพงภาษีใหม่ ไทยเจอไป 36% อ้างเพราะไทยตั้งอัตราภาษีสินค้านำเข้าสูงสุดที่ 72% นักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐบาลมี 3 ทางตอบโต้ “สู้-หมอบ-ทน”

(3 เม.ย. 68) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการภาษีใหม่ในวันที่ 2 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ระบุว่าจะเป็น “วันปลดแอกสหรัฐฯ” เขาย้ำว่านี่เป็นการพลิกโฉมประเทศ เพื่อให้สหรัฐฯ กลายเป็นขุมกำลังด้านอุตสาหกรรม


การปรับกำแพงภาษีในครั้งนี้มีพื้นฐานอยู่ที่ 10% และประเทศใดที่มีการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจากสหรัฐฯ ทางสหรัฐก็จะมีการปรับกำแพงภาษีขึ้นตามอัตราส่วน โดยประเทศไทยถูกปรับขึ้นไปอยู่ที่ 36% เพราะสหรัฐฯ มองว่า อัตราภาษีที่ไทยเก็บสหรัฐฯ โดยคำนวณจากการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน และกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี สูงถึง 72%


สำหรับในเอเชียมีทั้งประเทศที่อัตราภาษีหลังปรับมากกว่าและน้อยกว่าไทย


กัมพูชา 49%

ลาว 48%

เมียนมา 44%

ศรีลังกา 44%

เวียดนาม 46%

จีน 34%(เป็นการปรับเพิ่มจากก่อนหน้าที่ตั้งไว้ที่ 20% ทำให้ยอดรวมอยู่ที่ 54%)

อินโดนีเซีย 32%

ไต้หวัน 32%

ปากีสถาน 29%

อินเดีย 26%

ญี่ปุ่น 24%

มาเลเซีย 24%

บรูไน 24%

ฟิลิปปินส์ 17%

สิงคโปร์ 10%



ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า


“หัวจะปวด Thailand โดน reciprocal tariffs ไป 36%!!! นี่ขนาดลดให้ครึ่งนึงแล้วนะ 


Trump เล่นคิดว่าไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ (รวม nontariff barriers) 72%! ทั้งๆที่ค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าแค่ประมาณ 10% แปลว่าเขาคิด value ของ nontariff barrier เยอะมาก หรือไม่ก็ focus ตรงสินค้าที่เราคิดภาษีเขาเยอะๆ เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย หรือไม่ก็เขียนผิด


งานแรกของรัฐบาลคือต้องไปหาก่อนเลยว่า 72% มาจากไหน! จากนี้คือเกมเจรจาล้วนๆ เราน่ามีทางเลือกอยู่สามทาง หรือไม่ก็ combination ของทั้งสามทาง


หนึ่ง สู้ (แบบ แคนาดา ยุโรป หรือจีน) ซึ่งเราอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะเราพึ่งพาเขาเยอะกว่าเขาพึ่งพาเราเยอะมาก สหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเรา เราเกินดุลสหรัฐปีนึงหลายหมื่นล้าน (แม้ว่ามูลค่าของการเกินดุลจำนวนมากเป็นสินค้านำเข้าจากจีนที่อาศัยไทยเป็นช่องหลบเลี่ยงก็ตาม)


สอง หมอบ คือ เจรจาหาทางลงที่สหรัฐพอใจ เช่น ปรับลดภาษีที่เราเก็บเขาสูงๆ ยอมเปิดตลาดที่เราปกป้องอยู่ (เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย) ยกเลิก nontariff barrier เช่น การห้ามการนำเข้าเนื้อหมู ค่าตรวจสินค้า นู้นนี่


และ แค่นี้อาจจะไม่พอ เราอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐอีก เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ


เราอาจจะต้องเปิดเสรีด้านต่างๆที่สหรัฐบ่นมาตลอด เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน


แต่แน่นอนว่าทางเลือกนี้ นอกจากการเจรจา "ภายนอก" แล้วต้องการการเจรจา "ภายใน" ที่มีประสิทธิภาพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะยอมเปิดสินค้าเกษตรแลกกับภาคการส่งออก ใครจะยอมเสียประโยชน์ใครจะได้ประโยชน์


และเกมที่ยากที่สุดคือการหาว่าสหรัฐต้องการอะไรจริงๆ เพราะอาจจะไม่ใช่เกมการค้า แต่เป็นเรื่องอื่นอย่างการทหาร ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เราคงต้องอ่านเกมดีๆและประเมินผลได้ผลเสีย


สาม ทน คือถ้าเราหาทางออกไม่ได้ ก็คงต้องทน หรือหาแนวร่วมจากเพื่อนหัวอกเดียวกันในการกดดันและเจรจากับสหรัฐ เพราะเกมนี้สหรัฐก็อาจจะเจ็บอยู่ไม่น้อย สุดท้ายอาจจะต้องลดภาษีลงมาถ้าแรงกดดันในประเทศเพียงพอ แต่การทนและได้แต่หวังแบบไม่มีแผนคงไม่ใช่กลยุทธ์ทางออกที่ดีนัก”


(Photo by Brendan SMIALOWSKI / AFP)

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat