อินเดียส่งความช่วยเหลือทันที เหตุแผ่นดินไหวเมียนมารุนแรง 7.7 แมกนิจูด
อินเดียส่งความช่วยเหลือทันที เหตุแผ่นดินไหวเมียนมารุนแรง 7.7 แมกนิจูด

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ส่งความช่วยเหลือเมียนมาเหตุแผ่นดินไหวเต็มที่ -ด้าน 'มิน ออง หล่าย' เรียกร้องความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากทุกประเทศและกลุ่มอาเซียน
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดในภาคกลางของเมียนมา ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ สร้างความเสียหายอย่างหนักและคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เวียดนาม และบางส่วนของอินเดีย รายงานล่าสุดจากทางการเมียนมาระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 694 ราย บาดเจ็บ 1,670 ราย และสูญหาย 68 ราย คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานเสียหายหนักและการสื่อสารขัดข้อง
รัฐบาลทหารเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกมิน ออง หล่าย ออกคำร้องขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติ ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวที่หายาก เนื่องจากปกติจะไม่รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ขณะที่การช่วยเหลือยังเผชิญความท้าทายจากสงครามกลางเมืองและการตัดลดความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
อินเดียตอบสนองอย่างรวดเร็ว นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี โพสต์ข้อความผ่าน X เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ว่า “อินเดียพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกวิถีทาง” และในวันที่ 29 มีนาคม อินเดียได้ส่งความช่วยเหลือชุดแรกน้ำหนัก 15 ตันถึงเมืองย่างกุ้ง ภายใต้ปฏิบัติการ “พรหมมา” ความช่วยเหลือนี้ประกอบด้วยเต็นท์ ผ้าห่ม ถุงนอน อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องกรองน้ำ ชุดสุขอนามัย ยาและอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องปั่นไฟ และโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีทหารอินเดียร่วมส่งมอบให้ทางการเมียนมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า วิกฤตครั้งนี้ซ้ำเติมสถานการณ์ในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและการตัดงบช่วยเหลือจาก USAID ขณะที่ AFP ระบุว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาร์ได้เยือนพื้นที่ประสบภัย เช่น เนปยีดอ และมัณฑะเลย์ พร้อมเรียกร้องความช่วยเหลือจากทุกประเทศและองค์กร นอกจากอินเดียแล้ว กลุ่มอาเซียนและจีนก็ส่งทีมกู้ภัยและความช่วยเหลือเพิ่มเติม สถานการณ์ยังคงไม่แน่นอนเนื่องจากมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นต่อเนื่อง
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐฯประกาศยกเว้น "มาตรการภาษีนำเข้า" สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา

จีนเสนอสหรัฐฯ "พบกันครึ่งทาง" ยกเลิกภาษีที่ไม่สมเหตุสมผล ยืนยัน "สู้จนถึงที่สุด"หากประนีประนอมกันไม่ได้
