"กรมโยธาฯ" สั่งห้ามใช้อาคาร 52 แห่ง

"กรมโยธาฯ" สั่งห้ามใช้อาคาร 52 แห่ง

370406 เม.ย. 68 16:24   |     Tum1

"กรมโยธาฯ" สั่งห้ามใช้อาคาร 52 แห่ง รวมอาคาร ตม. 30 ชั้น - สรรพากร 27 ชั้น หลังตรวจสอบตามที่ได้รับร้องเรียนแล้ว 6,276 อาคาร

(6 เม.ย.68) ผู้สื่อข่าวรายงาว่า เฟซบุ๊กงาน "ประชาสัมพันธ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง" ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.68) รายงานผลการดำเนินการในวันที่ 4 เม.ย.68 ศรต.ยผ. ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย , สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน จำนวน 89 คน ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย โดยมีการแบ่งอาคารในการตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้


อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงพยาบาล , โรงเรียน และอาคารราชการในเขตกรุงเทพมหานคร โดยกรมโยธาฯ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบ อาคารที่ได้รับการร้องขอ ( 4 เม.ย.) ร่วมกับ 11 หน่วยงาน จำนวน 37 อาคาร

  • สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 35 อาคาร
  • มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 2 อาคาร
  • สีแดง ไม่มีอาคารที่มีความเสียหายอย่างหนักและระงับการใช้อาคาร 


สรุปการตรวจสอบอาคาร ตั้งแต่ วันที่ 28 มี.ค.– 4 เม.ย.68 จำนวน 186 หน่วยงาน จำนวน 535 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 489 อาคาร , มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 44 อาคาร และโครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 2 อาคาร 

สำหรับการใช้งานอาคาร (สีแดง) จำนวน 2 อาคาร ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อาคาร 30 ชั้น โครงสร้างผนังรับแรงเฉือน (Shear Wall) ช่องลิฟต์ และบันไดหนีไฟ ชั้น 3-4 เกิดการวิบัติจนเห็นเหล็กเสริม , กรมสรรพากร อาคาร 27 ชั้น เกิดความเสียหายบริเวณเสาอย่างหนักบางจุด ตั้งแต่ชั้น 5 ถึงชั้น 27 และเกิดรอยแยกของผนัง


      

อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง , อาคารขนาดใหญ่พิเศษ , โรงแรม , คอนโดฯ , หอพัก และห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน ซึ่งอาคารเหล่านี้มีการตรวจสอบตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกปีอยู่แล้ว กรมโยธาฯ ได้แนะนำให้เจ้าของอาคาร ให้ผู้ตรวจสอบที่เคยตรวจสอบเข้าดำเนินการ ตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคาร หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารไม่สามารถตรวจสอบอาคารได้ ทางกรมโยธาฯ มีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียน มากกว่า 2,600 ราย สามารถค้นหาผู้ตรวจสอบอาคารได้ผ่านเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง


อาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย , ตึกแถว , ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทาง กทม.จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษาแก่ประชาชนผ่าน Traffyfondue ซึ่งข้อมูล วันที่ 4 เม.ย.68 ได้รับแจ้งทั้งหมด 18,089 เรื่อง และดำเนินการแล้วเสร็จ 16,569 เรื่อง 

      

สำหรับอาคารในต่างจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทางโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ตรวจสอบร่วมกับวิศวกรของ อปท.และวิศวกรอาสาของเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการเช่นเดียวกับส่วนกลาง โดยสั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล หรืออาคารหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อาคาร ปัจจุบันได้มีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 5,741 อาคาร

  • สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 5,393 อาคาร
  • มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 298 อาคาร ,
  • สีแดง โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนัก โดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร จำนวน 50 อาคาร 


สรุปผลการตรวจสอบอาคาร ที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.– 4 เม.ย.68 ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น จำนวน 6,276 อาคาร

  • สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 5,882 อาคาร
  • มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 342 อาคาร
  • โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 52 อาคาร 


- ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน -

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat