ปลดล็อก! "ตัวเงินตัวทอง-นกแอ่นกินรัง" สามารถเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

ปลดล็อก! "ตัวเงินตัวทอง-นกแอ่นกินรัง" สามารถเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

9705 พ.ย. 67 15:12   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ปลดล็อก! "ตัวเงินตัวทอง-นกแอ่นกินรัง" สามารถเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ และเห็นชอบกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี62 รวม 12 ฉบับ

(5 พ.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความระบุว่า ปลดล็อก ระเบียบเก็บรังนกแอ่น "เหี้ยและนกแอ่นกินรัง" สามารถเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ และเห็นชอบกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี62 รวม 12 ฉบับ


มอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 20 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผ่านระบบการประชุมทางไกล VDO Conference


ตัวเงินตัวทอง หรือ เหี้ย จากเดิมที่มีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ 62 ชนิด จะเพิ่มเป็น 63 ชนิด โดยการเพิ่มตัวเงินตัวทอง (Varanus salvator)​ เข้าไปในรายการ เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันมีการเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์สวยงาม ถือเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ


ขอบคุณภาพ : ตัวเงินตัวทอง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


ส่วนนกแอ่น ร่างประกาศฯ มีการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครอง 2 ชนิด ได้แก่ นกแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus หรือ Aerodramus germani) และนกแอ่นหางสี่เหลี่ยม หรือ นกแอ่นรังดำ (Aerodramus maximus) อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังได้ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากรังนกแอ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายด้านอาคาร กฎหมายด้านสาธารณสุข เป็นต้น


ขอบคุณภาพ : นกแอ่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


โดยที่ประชุมฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมง รวม 12 ฉบับ เช่น


- ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าที่เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ. ....


- เรื่องกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังได้ พ.ศ. ....


- ร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งรังของสัตว์ป่าคุ้มครองที่มิใช่สัตว์น้ำ พ.ศ. ....


- ร่างระเบียบฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าเสียหายหรือค่าชดเชยในพื้นที่ควบคุมเพื่อการจัดการสัตว์ป่า พ.ศ. ....


- ร่างระเบียบฯ ว่าด้วยการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าบริการ หรือค่าตอบแทน และราคาสัตว์ป่า พ.ศ. ....


- ร่างระเบียบฯ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนสถานที่ที่จัดไว้สำหรับใช้เลี้ยงดู ดูแล รักษาสัตว์ป่า พ.ศ. ....


- ร่างระเบียบฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการคำนวณมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พ.ศ. ....


- ร่างระเบียบฯ ว่าด้วยการเรียกเก็บและยกเว้นค่าบริการหรือค่าตอบแทน และอัตราค่าบริการหรือค่าตอบแทน ในการให้บริการและอำนวยความสะดวกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า (ฉบับที่..) พ.ศ. ....


- ร่างระเบียบกรมประมง ว่าด้วยการแจ้ง การรับแจ้ง และการนำผ่านซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่าดังกล่าว หรือ ผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าวที่เป็นสัตว์น้ำ


- ร่างระเบียบกรมประมง ว่าด้วยการแจ้งและการรับแจ้งนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ สัตว์ป่าควบคุม ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ


ร่างประกาศได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ เนื่องจากเห็นว่าการใช้หลักฐานและใบอนุญาตจะช่วยให้ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตง่ายขึ้น และฝ่ายกฎหมายได้คลายข้อกังวลในเรื่องที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม


เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสมดุลของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการศึกษาติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง