กทม.เตรียมแผนรับมือฝุ่น "PM 2.5" ห้าม 6 ล้อเข้า 22 พื้นที่ชั้นใน
กทม.เตรียมแผนรับมือฝุ่น "PM 2.5" ห้าม 6 ล้อเข้า 22 พื้นที่ชั้นใน
เช็กที่นี่ 22 พื้นที่ชั้นใน กทม. ห้ามรถบรรทุก 6 ล้อวิ่ง หลังประกาศเขตควบคุมฝุ่น
(29ต.ค.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สสวท. แถลงความร่วมมือในการลดฝุ่นละออง "PM 2.5" ภายหลังประชุมมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก "PM 2.5" ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568
สำหรับวันนี้ที่ประชุมได้หารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า กรุงเทพมหานคร พร้อมหน่วยงานภาคีเครือข่าย พร้อมเดินหน้ามาตรการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง "PM 2.5" ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ จะประสบปัญหาฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคมของทุกปี
โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง "PM 2.5" ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้แผนลดฝุ่น 365 วัน และดำเนินมาตรการเข้มข้นขึ้นในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงในระยะวิกฤต โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในสังกัดและหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการดำเนินการตามมาตรการติดตามเฝ้าระวัง อาทิ
นักสืบฝุ่น Risk Map แจ้งเตือน
ติดตั้ง Sensor 1,000 จุด การกำจัดต้นตอ ได้แก่
- ตรวจวัดควันดำ ตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุก
- การนำรถอัดฟางใช้ในการเกษตรการให้บริการรถ Feeder
- การพัฒนาทางเท้า
- การจัดการจุดฝืด
- Bike Lane
- ส่งเสริม EV
การป้องกันประชาชน อาทิ
- ธงคุณภาพอากาศ
- ห้องปลอดฝุ่น DIY
- เครื่องฟอกอากาศ
- นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น
นอกจากนี้ ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue สภาลมหายใจ
ในส่วนการดำเนินงานตามแผนระยะวิกฤต ได้แก่
- จัดตั้ง War Room การแจ้งเตือน 3 ครั้ง/วัน
- ตรวจควันดำบริเวณท่าเรือ/นิคมอุตสาหกรรม
- ดำเนินแคมเปญรถคันนี้ลดฝุ่น
- การขอความร่วมมืองดจุดธูป เทียน ในวัดและศาลเจ้า
- ห้ามจอดรถถนนสายหลัก/สายรอง
- จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่
- แจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก
- การติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ ผ่านทางแอปพลิเคชัน AirBKK เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ Line Alert เฝ้าระวัง Hot Spot
- การหยุดก่อสร้างการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ
หากการพยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง 3 วัน จะดำเนินมาตรการ Low Emission Zone ประกาศขอความร่วมมือเครือข่าย WFH ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้ข้าราชการ/พนักงานปฏิบัติงานจากที่พัก คลินิกมลพิษทางอากาศ และให้โรงเรียนดำเนินการตามมาตรการโรงเรียนสู้ฝุ่น (แนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้ เพื่อเตรียมมรับมือสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับผู้เรียนเป็นการสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจสถานการณ์วิกฤตและสามารถป้องกันตนเองได้อย่างปลอดภัย และสามารถส่งต่อองค์ความรู้ในโรงเรียนให้กับคนในครอบครัวได้)
นายชัชชาติ เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร พยายามหาอำนาจทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมลพิษ ซึ่ง กทม. สามารถใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีเกิดเหตุหรือใกล้จะเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้สามารถกำจัดต้นตอของสาธารณภัยได้
อย่างไรก็ดีปีนี้ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่น "PM 2.5" ประกอบด้วย
1.มาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) และแนวทางการดำเนินงานภายใต้ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้พื้นที่บังคับใช้ จำนวน 9 เขต ประกอบด้วย
- เขตดุสิต
- เขตพญาไท
- เขตพระนคร
- เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
- เขตสัมพันธวงศ์
- เขตคลองสาน
- เขตสาทร
- เขตปทุมวัน
- เขตบางรัก
รวมไปถึงแนวถนนต่าง ๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง ได้แก่
- เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง)
- เขตจตุจักร (จตุจักร / ลาดยาว / จันทรเกษม / จอมพล)
- เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง / สามเสนนอก / บางกะปิ)
- เขตดินแดง (ดินแดง / รัชดาภิเษก)
- เขตราชเทวี (มักกะสัน)
- เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ)
- เขตคลองเตย (คลองเตย)
- เขตยานนาวา (ช่องนนทรี / บางโพงพาง)
- เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม / บางโคล่)
- เขตธนบุรี (ดาวคะนอง / สำเหร่ / บุคคโล / ตลาดพลู)
- เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ)
- เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์ / อรุณอมรินทร์ / บางขุนศรี / บ้านช่างหล่อ / ศิริราช)
- เขตบางพลัด (บางพลัด / บางบำหรุ / บางอ้อ / บางยี่ขัน)
เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยเมื่อค่าฝุ่น "PM 2.5" อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น อัตราการระบายอากาศ และทิศทางลมมาจากตะวันออก ล่วงหน้า 2 วัน จะออกประกาศดังกล่าว โดยจะประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และกำหนดระยะเวลาห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศ โดยจะมีการกำหนดเปิดลงทะเบียนบัญชีสีเขียว ตั้งแต่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไป
สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่เข้ากระบวนการบำรุงรักษารถ ประกอบด้วย
- เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
- เปลี่ยนไส้กรองอากาศ
- การติดตั้งตัวกรองอนุภาคไอเสียดีเซล (DPF) ได้รับการยกเว้นมาตรการในเขตมลพิษต่ำฯ
- เชื่อมโยงข้อมูลบัญชีสีเขียวกับข้อมูลจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนอีกด้วย
ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืนนำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว เข้าพื้นที่ในการช่วงที่มีการประกาศพื้นที่ Low Emission Zone ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2203 2951
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับรถบรรทุกส่วนใหญ่ให้ปรับปรุงตนเอง เพื่อลดมลพิษให้กับกรุงเทพมหานครทั้งในเวลาปกติและเมื่อเกิดภาวะวิกฤติฝุ่นหนาแน่น และ กทม.มั่นใจในเทคโนโลยีว่าจะช่วยตรวจจับผู้ฝ่าฝืนนำมาดำเนินคดีได้ ซึ่งคาดว่ามาตรการนี้จะเป็นมาตรการเชิงบวกเพื่อให้คุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครดีขึ้น
2.โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น ปี 2568 ซึ่งต่อยอดดำเนินโครงการเป็นปีที่ 2 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 - มกราคม 2568 โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ โดยปีนี้ตั้งเป้ารถเข้าร่วมโครงการไว้ 500,000 คัน ทั้งนี้ เมื่อปี 2567 มีรถยนต์เข้าร่วมโครงการโดยเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง จำนวน 265,130 คัน ช่วยลด PM2.5 จากภาคการจราจร 13.26%
3.มาตรการ Work From Home เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ต่อเนื่อง 2 วัน โดยขอความร่วมมือภาคีเครือข่าย WFH ให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานในที่พัก เพื่อลดปริมาณการจราจรและผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อปีที่แล้วมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ลงทะเบียนร่วมเป็นเครือข่าย Work From Home กับกรุงเทพมหานครกว่า 151 หน่วยงาน บุคลากรรวมมากกว่า 60,000 คน สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสามารถลงทะเบียนเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2203 2951
4.การให้บริการยืมรถอัดฟาง เพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร โดยปรับลดเงื่อนไขการยืมรถอัดฟางในส่วนของผู้ยืม และการยกเว้นค้ำประกัน
5.โครงการนักสืบฝุ่น โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และสนับสนุนการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
6.การจัดทำห้องปลอดฝุ่นและธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และป้องกันสุขภาพอนามัยของนักเรียนและบุคลากร
7.การเปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลนคราภิบาล ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้
สำหรับการประชุมความร่วมมือในครั้งนี้ มีหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมการประชุม อาทิ
- กระทรวงพลังงาน
- กรมควบคุมมลพิษ
- กรมขนส่งทางบก
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- กองบังคับการตำรวจจราจร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
- คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
- กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
- สภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร
- สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โครงการความร่วมมือ-เยอรมัน ด้านพลังงาน การคมนาคม และสภาพภูมิอากาศ
- หน่วยงานของกทม.
- สำนักสิ่งแวดล้อม
- สำนักอนามัย
- สำนักเทศกิจ
- สำนักการแพทย์
- สำนักอนามัย
- สำนักการจราจรและขนส่ง
- สำนักงานกฎหมายและคดี
- สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- สำนักพัฒนาสังคม
- สำนักการศึกษา
- สำนักงานเขตต่าง ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง