จับ รปภ.สวมรอยกรรมการบริษัทออกใบกำกับภาษีปลอมกว่า 4 พันฉบับ

จับ รปภ.สวมรอยกรรมการบริษัทออกใบกำกับภาษีปลอมกว่า 4 พันฉบับ

56125 เม.ย. 68 11:55   |     AdminNews

CIB จับอดีต รปภ. สวมชื่อเป็นกรรมการบริษัทออกภาษีขายปลอมให้บริษัทย่อย 128 ราย มูลค่าความเสียหายทะลุ 493 ล้านบาท

25 เม.ย.68 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) จับกุมนายเอกพล อายุ 47 ปี อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรสาคร ฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13 และ 90/4 (3)


เจ้าหน้าที่พบว่า นายเอกพล สวมรอยเป็นกรรมการบริษัท “เอส.พี. เปเปอร์ แอนด์ รีไซเคิล จำกัด” ซึ่งปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว แต่มีการออกใบกำกับภาษีปลอมช่วงเดือนมีนาคม – ธันวาคม 2557 รวม 4,441 ฉบับ ให้กับนิติบุคคล 128 ราย โดยไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการจริง เป็นการออกภาษีปลอมเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำรัฐเสียหายรวมกว่า 493 ล้านบาท


จากการสืบสวนพบว่า ผู้ต้องหาเคยให้บุคคลไม่ทราบชื่อถือบัตรประชาชนไปสมัครงาน รปภ. โดยไม่รู้ว่าถูกนำชื่อไปสวมรอยเป็นกรรมการบริษัท ทั้งนี้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ระบุว่า บริษัทดังกล่าวมีพฤติกรรมใช้ใบกำกับภาษีของกลุ่มธุรกิจของเก่า เช่น เศษโลหะ อลูมิเนียม ทองแดง มาเป็นภาษีซื้อ และออกใบกำกับภาษีขายโดยไม่มีการประกอบกิจการจริง


การจับกุมครั้งนี้เป็นผลจากการสืบสวนเชิงลึกภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. โดยมี พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผบก.ปอศ. และทีมสืบสวนจาก กก.2 บก.ปอศ. ร่วมปฏิบัติการ โดยสามารถจับกุมนายเอกพล (สงวนนามสกุล) ได้ในพื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ หลังได้รับการอนุมัติหมายจับจากศาลจังหวัดสมุทรสาครในข้อหาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13 และ 90/4 (3) ฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ


สืบเนื่องจากบริษัท เอส.พี. เปเปอร์ แอนด์ รีไซเคิล จำกัด ซึ่งจดทะเบียนประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกล่องกระดาษ รีไซเคิลกระดาษและกระดาษลอนลูกฟูก ได้ยุติกิจการไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 แต่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรกลับตรวจพบความผิดปกติจากการยื่นภาษีในช่วงเดือนมีนาคมถึงธันวาคม 2557 โดยพบว่า บริษัทดังกล่าวออกใบกำกับภาษีขายรวมกว่า 4,441 ฉบับ ให้กับนิติบุคคลถึง 128 ราย ทั้งที่ไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการใดๆ เกิดขึ้นจริง ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายภาษีอย่างชัดเจน


เจ้าหน้าที่สรรพากรพยายามเรียกตัวกรรมการบริษัทมาชี้แจง แต่กลับไม่มีผู้ใดมาตามนัด และไม่จัดส่งเอกสารหลักฐานใด ๆ ส่งผลให้พนักงานสอบสวนมีเหตุเชื่อว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี จึงยื่นเรื่องขอศาลออกหมายจับ ก่อนจะนำไปสู่การติดตามและจับกุมในที่สุด


ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าไม่เคยเป็นกรรมการบริษัท และไม่รู้จักบริษัท เอส.พี. เปเปอร์ฯ มาก่อน โดยอธิบายว่าในอดีตเคยเดินทางมาหางานทำที่กรุงเทพฯ และมีชายคนหนึ่ง (ไม่ทราบชื่อ) เสนอให้สมัครงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย พร้อมขอบัตรประชาชนไปเพื่อ “สมัครงาน” โดยผู้ต้องหายอมมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้เพื่อดำเนินการในเรื่อง การสมัครงานให้ และละเลยไม่ใส่ใจว่าจะมีการนำมาใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวโดยไม่ทันระวัง และไม่ได้รับคืนอีกเลย ไม่ทราบว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำไปสวมรอยจดทะเบียนบริษัทและกระทำความผิดในลักษณะนี้ - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat