กัมพูชาท้าไทย! ฟ้องศาลโลกตัดสิน 'ปราสาทตาควาย' อยู่เขตแดนใคร
กัมพูชาท้าไทย! ฟ้องศาลโลกตัดสิน 'ปราสาทตาควาย' อยู่เขตแดนใคร

กัมพูชาท้าไทยฟ้องศาลโลกปมพิพาทเขต 'ปราสาทตาควาย' ขอชี้ขาดสิทธิ์รวมอีก 3 พื้นที่เขตชายแดน - ปมถูกทหารไทยห้ามคล้องผ้าธงชาติเขมร
วันที่ 7 กรกฎาคม 2568 สำนักข่าวกัมพูชา (Cambodianess) รายงานว่า กระทรวงกลาโหมของกัมพูชาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตบริเวณ “ปราสาทตาควาย” หรือที่กัมพูชาเรียกว่า “วัดท่ากระบือ” ขึ้นพิจารณาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อให้เกิดการชี้ขาดอย่างเป็นทางการ
นางมาลี โสเชตา โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชา แถลงปฏิเสธแถลงการณ์ของฝ่ายทหารไทยที่ระบุว่าปราสาทดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตแดนของไทย โดยชี้ว่าเป็น “การบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง” พร้อมระบุว่าไทยอ้างอิงแผนที่ฝ่ายเดียวซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย
“หากต้องการทราบข้อเท็จจริงว่าโบราณสถานดังกล่าวเป็นของใคร ไทยควรร่วมกับกัมพูชานำคดีขึ้นสู่ศาลโลก พร้อมข้อพิพาทอื่นในพื้นที่ปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และมอมเบย เพื่อหาข้อยุติ” โสเชตากล่าว
คำกล่าวของเธอมีขึ้นหลังเหตุการณ์ตึงเครียดบริเวณหน้าปราสาทตาควาย เมื่อทหารไทยห้ามนักท่องเที่ยวหญิงชาวกัมพูชาเข้าสถานที่ เนื่องจากเธอสวมผ้าพันศีรษะลายธงชาติกัมพูชา โดยอ้างว่าการแสดงสัญลักษณ์ประจำชาติในพื้นที่พิพาทอาจสร้างความขัดแย้ง
ในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นทหารไทยเข้าห้าม พร้อมมีนักท่องเที่ยวชาวไทยร่วมแสดงความไม่พอใจ โดยยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในอาณาเขตของไทย
ขณะที่โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชาชี้ว่า “ชาวกัมพูชามีสิทธิ์สวมใส่หรือจัดแสดงสิ่งของที่มีสัญลักษณ์ชาติได้ตามปกติ การห้ามดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดข้อตกลงและสองมาตรฐาน เพราะนักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถสวมเสื้อมีธงชาติได้โดยไม่มีปัญหา”
โสเชตายังอ้างว่ามีนักท่องเที่ยวชาวไทยพยายามทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวหญิงชาวกัมพูชาระหว่างโต้เถียงเรื่องสถานะของพื้นที่ จนทหารทั้งสองฝ่ายต้องเข้าควบคุมสถานการณ์
ด้านกองกำลังรักษาความมั่นคงของไทยมีการเพิ่มกำลังบริเวณพื้นที่พิพาท เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น
ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา นายปรัก โสคนน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยให้ร่วมกันยื่นคดีต่อ ICJ อย่างเป็นทางการ แต่ทางฝ่ายไทยปฏิเสธ และเสนอให้ใช้กลไกทวิภาคีภายใต้คณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) และบันทึกความเข้าใจปี 2543 แทน
ทั้งนี้ ความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชามีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุเพลิงไหม้ศาลาพักแรมในพื้นที่มอมเบย ซึ่งฝ่ายไทยกล่าวหากัมพูชาเป็นผู้วางเพลิง ขณะที่กัมพูชาระบุว่าเพลิงไหม้ดังกล่าวเกิดจากไฟป่า
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม มีรายงานว่าทหารกัมพูชาถูกยิงเสียชีวิตบริเวณพื้นที่พิพาท สร้างกระแสความไม่พอใจในกัมพูชา และจุดชนวนให้เกิดข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเด็ดขาด