"สุริยะ" เร่งสอบเหตุคานถล่มพระราม 2 สั่งเยียวยารายละ 1 ล้าน

"สุริยะ" เร่งสอบเหตุคานถล่มพระราม 2 สั่งเยียวยารายละ 1 ล้าน

3029 พ.ย. 67 23:15   |     AdminNews

"สุริยะ" รมว.คมนาคม สั่งเยียวยาผู้เสียชีวิตคานพระราม 2 ถล่ม รายละ 1 ล้านบาท - เตรียมมาตรการลงโทษผู้รับเหมา หากพบความบกพร่องจะถูกห้ามรับงานรัฐ 2-3 ปี

29 พ.ย.67 นายสุริยะ จึงเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เกิดเหตุ โครงการก่อสร้างสะพานยกระดับ ถนนพระราม 2 พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยได้ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ในเบื้องต้นทราบว่า ผู้เสียชีวิตมีทั้งสิ้น 6 ราย ซึ่งตอนนั้นตนประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่ที่เชียงราย โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตนรีบลงมา พร้อมบอกว่า ถนนเส้นนี้ได้กำชับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้รับเหมา และมีการประชุมเกือบทุกเดือนและเน้นสำคัญคือเรื่องของความปลอดภัย โดยจะมีการนำสมุดพกมาตัดคะแนนผู้รับเหมา ซึ่งเป็นแนวนโยบายของกระทรวงคมนาคมมาได้ 6-8 เดือน ซึ่งโครงสร้างการก่อสร้างใหญ่ขนาดนี้จะมีผู้รับเหมาพิเศษประมาณ 80 ราย 


โดยที่ผ่านมาทั้ง 80 ราย ยังไม่เคยมีใครต้องถูกตัดคะแนน เพราะทุกคนมีความกระตือรือร้นในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งตนได้มีการปรึกษากับกระทรวงการคลัง หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจะให้ผู้รับเหมาไม่ให้รับงาน 2-3 ปี ซึ่งยัง ไม่ทันได้ใช้มาตรการนี้ก็เกิดเหตุการณ์นี้เสียก่อน หลังจากนี้ก็จะมีการไปเร่งรัดทางกรมบัญชีกลางเร่งรัดมาตรการนี้ เพราะบริษัทใหญ่ที่รับเหมาการก่อสร้างมูลค่าหลักพันล้านนั้น หากขาดรายได้ไปจะส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างแน่นอน ซึ่งจะต้องมีการบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพราะหากยังไม่บังคับใช้และเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตผู้รับเหมาก็จะไม่มีการตกจากชั้น ลำดับชั้น ที่จัดเอาไว้ในและจะไม่มีการแก้ไขใด ๆ เกิดขึ้น


สำหรับการเยียวยาผู้เสียชีวิตจะให้ผู้รับเหมาเยียวยาศพละ 1 ล้านบาท เป็นการเยียวยาเบื้องต้น และต้องบังคับให้มีการเยียวยาให้ได้


ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์นี้ได้เชิญวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาวิศวกร มาช่วยประเมินสาเหตุที่แท้จริงและจะเร่งประเมินให้เร็วที่สุดเพื่อเกิดการป้องกันในอนาคต ขณะเดียวกันก็มีการคาดเดาสาเหตุไปหลายอย่างแต่ทั้งนี้ก็อยากให้รอสาเหตุที่แท้จริงจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เหตุเครนถล่มพระราม 2 นายกฯสั่ง 'สุริยะ' ลงพื้นที่ - จนท.เผยกู้ร่างติดค้างใต้ซากมีอุปสรรค

เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต เหตุ "ทรัส" สร้าง ถ.พระราม 2 พังถล่ม ดับเพิ่ม รายที่ 6


ส่วนในช่วงนี้ที่กำลังจะมีการรื้อย้ายออกหากโครงสร้างข้างบนพร้อมที่จะตกลงมาตลอดเวลาเราจึงไม่อยากเห็นการซ้ำซ้อน จึงต้องมั่นใจว่าการกู้ศพอีก 2 รายจะไม่เกิดอุบัติเหตุกับกู้ภัยอีก เบื้องต้นการรื้อถอนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 14 วันหรืออาจจะเร็วกว่านั้น 


สำหรับบริษัทที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้จะถูกตัดคะแนนอย่างแน่นอน แต่เรื่องของการตัดสิทธิ์ระงับการก่อสร้างน่าจะยังไม่โดนตัดสิทธิ์เนื่องจากเรื่องของการระงับ ไม่อยู่ในระเบียบต้องไปเพิ่มระเบียบขึ้นมาก่อน 


เมื่อถามว่าถนนเส้นนี้มีผู้ใช้บริการเยอะและเกิดอุบัติเหตุบ่อยจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร นายสุริยะ บอกว่า จะเห็นโครงสร้างลักษณะนี้มีขนาดใหญ่มากและโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นอย่างที่ตนบอกว่าในที่สุดหากทางผู้รับเหมาคิดว่าจะเกิดอุบัติเหตุและไม่ถูกปรับตกชั้น ก็จะไม่มีความใส่ใจ 


ระหว่างการแถลงข่าวนั้น นางสาวรัชนก ศรีนอก สส. กรุงเทพมหานคร เจขต 28 พรรคประชาชน และนายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.เขต 1 สมุทรสาคร พรรคประชาชน ได้สอบถามกับนายสุริยะในหลายประเด็น


โดยนางสาวรัชนก มีข้อซักถามและข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ข้อแรกคือ จะดำเนินการอย่างไรกับบริษัทที่ถูกสั่งห้ามก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่เคยความผิดพลาด แต่กลับไปเปิดบริษัทใหม่เพื่อหลีกเลี่ยง อยากให้มีมาตรการขั้นเด็ดขาดกับบริษัทเหล่านี้ให้ชัดเจน


ซึ่งนายสุริยะได้เห็นด้วย และตอบคำถามประเด็นนี้ว่า โดยปกติแล้วการก่อสร้างโครงการใหญ่ของรัฐนั้นจะเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ ไม่ใช่ใครตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาก็จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างได้โดยง่าย ต้องเข้าหลักเกณฑ์จึงจะสามารถเข้ามาดำเนินการได้


คำถามข้อที่ 2 คือ อยากให้ เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาหน้าใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ และใช้เทคโนโลยีใหม่ ผ่านหลักเกณฑ์ ได้มีโอกาสเข้าไปรับงานก่อสร้างโครงการใหญ่ของรัฐ ไม่ใช่ผูกขาดแต่กลับผู้รับเหมาเจ้าเดิม ๆ


ประเด็นนี้นายสุริยะไม่เห็นด้วย โดยชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องคัดสรรผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ ไม่ใช่ใครก็ได้จะมาดำเนินการได้ ซึ่งต้องผ่านหลักเกณฑ์หลายข้อ


ข้อที่ 3 เห็นว่า ภาครัฐอะลุ่มอล่วยกับผู้รับเหมาที่ทำงานผิดพลาดบ่อยครั้งไปหรือไม่ อย่างเช่นถนนพระรามที่ 2 ที่มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง


ด้านนายสุริยะตอบคำถามว่า ต่อไปจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดกับผู้รับเหมาเพื่อทำงานให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ไปสร้างปัญหากับพี่น้องประชาชนอีก


ด้านนายณัฐพงษ์ บอกว่า รู้สึกเสียความรู้สึกที่ทีมงานของนายสุริยะนั้นกันไม่ให้เข้าไปเสนอแนะความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยอยากให้มีการแก้ปัญหาไม่ให้การก่อสร้างบนถนน พระรามที่ 2 นั้นสร้างปัญหากับประชาชนอีก


นายสุริยะ ตอบว่า รู้สึกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น โดยโดยส่วนตัวแล้วยินดีที่จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่าเดิมต่อไป


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง