“พิชัย” เร่งเจรจาภาษีสหรัฐฯ - 'ทีมไทยแลนด์' นัดประชุมรับมือ 11 ก.ค.นี้

“พิชัย” เร่งเจรจาภาษีสหรัฐฯ - 'ทีมไทยแลนด์' นัดประชุมรับมือ 11 ก.ค.นี้

12708 ก.ค. 68 18:46   |     AdminNews

“พิชัย” แจง ครม.จะพยายามเจรจาภาษีสหรัฐฯ ก่อนเส้นตายมีผลบังคับใช้ 1 ส.ค.นี้ 'ชี้ยังพอมีเวลา' - ด้าน 'ทีมไทยแลนด์' เล็งประเมินผลกระทบภาษีทรัมป์ 36% นัดประชุมรับมือที่บ้านพิษณุโลก 11 ก.ค.นี้

8 ก.ค.68 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รายงานเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ กรณีที่มีการยื่นมาบอกว่าในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ จะต้องเจรจาภาษีนำเข้าสินค้าให้จบก่อนจะมีผลบังคับใช้


โดยนายพิชัย ชี้แจงว่า ยังมีเวลาอีก เนื่องจากเรื่องต่างๆ ที่ส่งเข้าไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อเสนอการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง การลงทุนน้ำมัน และการให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศนั้น เชื่อมั่นว่าเวลาที่เหลืออยู่จะสามารถพิจารณาในโอกาสที่ดีของการเจรจาภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย พร้อมยังยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้ได้ก่อนวันที่ 1 สิงหาคมนี้


ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ เตรียมหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และ ในราย sectorsเพื่อประเมินผลกระทบและเตรียมมาตรการรองรับด่วนที่สุด และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาตลาดใหม่เพื่อ ลดความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย


สิ่งที่เป็นห่วง คือ ไม่ว่าอัตราภาษีจะเป็นเท่าใดก็ตาม คาดว่าโครงสร้างการส่งออก จะไม่เหมือนเดิมโดยประเมินโมเดลต่างๆ เช่น ไทยมีข้อตกลง RCEP ที่มีการลดภาษี 0% ให้สมาชิก ซึ่งไม่มีสหรัฐ อยู่ในนี้ ซึ่งอาจจะพิจารณาเรื่องลดภาษี 0% ให้กับสหรัฐ ด้วยหรือไม่ คงต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ


นอกจากนี้จะประเมินไปถึง "สถานการณ์กรณีที่เลวร้ายที่สุด" หากไทยโดนภาษี 36% ว่า จะมีผลกระทบอย่างไรต่อจีดีพีไทย และ ต้องเตรียมมาตรการองรับเช่น soft loan และจะ มองทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งในวันศุกร์ที่ 11 กค.นี้ ทางทีมไทยแลนด์ และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะนัดประชุมกันที่บ้านพิษณุโลก


ทั้งนี้สหรัฐฯ ได้แจ้งอย่างเป็นทางการว่า จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศคู่แข่งในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม (20%) อินโดนีเซีย (32%) มาเลเซีย (25%) ลาว (40%) กัมพูชา (36%) เมียนมา (40%) ฟิลิปปินส์ (17% *อาจเปลี่ยนแปลง) 


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat