“เท้ง ณัฐพงษ์” ขอโทษประชาชน รับยังรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิได้ไม่มากเท่าที่ควร

“เท้ง ณัฐพงษ์” ขอโทษประชาชน รับยังรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิได้ไม่มากเท่าที่ควร

15002 ก.พ. 68 18:24   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

“เท้ง ณัฐพงษ์” ขอโทษประชาชน รับยังรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิได้ไม่มากเท่าที่ควร เตรียมลุยงาน อบจ.ลำพูน เดินหน้าพิสูจน์การทำงานท้องถิ่นแบบ ปชน. “ศรายุทธิ์” เผยเลือกตั้งวันเสาร์ทำจำนวนผู้ใช้สิทธิลดถึง 2 ล้าน ลุยยื่น กกต.ตรวจสอบบัตรเสียที่เชียงใหม่-สมุทรปราการ

(2 ก.พ.68) ที่อาคารอนาคตใหม่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน และ วีระเดช ภู่พิสิฐ ว่าที่นายก อบจ.ลำพูน ได้ร่วมกันแถลงข่าว พร้อมเปิดแผนการทำงานในอนาคตของพรรคประชาชนหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่จังหวัดลำพูน


ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน ตนต้องขอโทษประชาชนที่พรรคยังไม่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้มากเท่าที่ควร และวันนี้พรรคประชาชนก็ยังไม่สามารถบรรลุการมีนายก อบจ. ในหลายจังหวัดได้


อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณประชาชนชาวลำพูนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จนมีสัดส่วนผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งเมื่อเทียบกับอีก 47 จังหวัดที่เหลือ และเป็นที่มาที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาชนได้นายก อบจ. ในจังหวัดลำพูน แต่ก็ยังเป็นที่น่าเสียดายโอกาส ที่หากพรรคประชาชนสามารถรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ได้มากกว่านี้ ก็อาจจะชนะการเลือกตั้งในระดับ อบจ. ได้อีกหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ นครนายก สมุทรปราการ ตราด และสมุทรสงคราม ที่พรรคประชาชนแพ้ผู้ชนะอันดับที่ 1 ไปไม่ถึง 10% เท่านั้น


ส่วน ส.อบจ. พรรคประชาชนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนรวม 132 คนจาก 33 จังหวัด มาจากจังหวัดที่พรรคประชาชนส่งผู้สมัครนายก อบจ. 80 คน และจังหวัดที่ไม่มีผู้สมัครนายก อบจ. 52 คน ซึ่งพรรคประชาชนยืนยันว่าการทำงานในระดับ ส.อบจ. สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ อบจ. ได้อย่างแข็งขัน รวมถึงผลักดันการบรรจุบงบประมาณและโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชานในพื้นที่ได้


[ ลุยงานทันทีที่ลำพูน ขับเคลื่อนนโยบาย อบจ. ด้วยฐานข้อมูล ทำงบประมาณแบบโปร่งใส-มีส่วนร่วม ]


ณัฐพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการทำงานไปข้างหน้าของพรรคประชาชนในจังหวัดลำพูน มีทั้งสิ่งที่พร้อมทำงานขับเคลื่อนทันทีในนโยบายที่พรรคประชาชนได้นำเสนอไว้ ลงรายละเอียดนโยบายไปถึงระดับพื้นที่ ภายใต้ฐานข้อมูลการพัฒนาเมือง (City Data Platform) รวมทั้งข้อมูล GIS หรือข้อมูลเชิงพื้นที่ เช่น จุดกำเนิดไฟป่า พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ความกระจุกตัวของชุมชนหมู่บ้าน โครงข่ายถนน จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ในการจัดทำนโยบายต่อจากนี้ 


ยกตัวอย่างเช่น การยกระดับ รพ.สต. ให้สอดคล้องกับความกระจุกตัวของชุมชน เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ ในจังหวัด รวมถึงการปรับปรุงถนนหนทางและไฟส่องสว่าง แก้ปัญหาน้ำท่วม สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ ฯลฯ ซึ่งว่าที่นายก อบจ.ลำพูนพร้อมลงมือทำงานต่อจากนี้ ทั้งในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2568 รวมถึงการปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การจัดทำงบประมาณปี 2569 


โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงพฤษภาคม 2568 เป็นช่วงที่พรรคประชาชนจะเดินทางไปทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดลำพูน เพื่อสอบถามประชาชนว่าจุดไหนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยกว่ากัน นำแพลตฟอร์มการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมมาใช้ และเปิดเผยการใช้และตั้งงบประมาณอย่างโปร่งใส โดยนำองค์ความรู้ที่มีจากคณะก้าวหน้ามาผนวกกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาจังหวัดลำพูนให้ดีกว่าเดิม


ทั้งนี้ พรรคประชาชนจะยังคงมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานการเมืองระดับท้องถิ่นต่อไป ทั้งในระดับ อบจ. รวมถึงระดับเทศบาลและ อบต. ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้ ภายใต้แนวทางการทำงานเชิงพื้นที่ที่พร้อมลงไปเก็บเกี่ยวปัญหา รวบรวมประเด็น เปิดให้มีประชาชนมีส่วนร่วม โดยตนเชื่อว่า อบจ.ลำพูนจะเป็นสนามแรกที่จะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า การทำงานการเมืองท้องถิ่นแบบพรรคประชาชนจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ประชาชนชาวไทยได้


[ Saturday Effect: เลือกตั้งวันเสาร์ทำจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ลด 2 ล้าน ]


ศรายุทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนและสื่อมวลชนหลายคนอยากทราบว่าการเลือกตั้งวันเสาร์มีผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์ลดลงจาก 62% มาอยู่ที่ประมาณ 55% หมายความว่าคะแนนหายไป 7-8% หรือราว 2 ล้านกว่าคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งน่าจะมีผลมาจากการเลือกตั้งวันเสาร์ 


โดยบางจังหวัดมีผู้มาใช้สิทธิ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ที่จันทบุรีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งลดลงถึง 15% ภูเก็ตลดลงกว่า 11% นนทบุรีลดลงกว่า 9% สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และระยอง ลดลงกว่า 7-8% ซึ่งจำนวนตัวเลขผู้ไม่ได้มาใช้สิทธิ์แต่ละที่อาจจะส่งผลต่อผลการเลือกตั้งด้วย


จากสิ่งที่เกิดขึ้น กกต. ควรต้องทบทวนการประกาศเลือกตั้งในวันเสาร์ ว่าสอดคล้องกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่าการเลือกตั้งวันเสาร์ไม่ตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิตจริงและการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชน


ทั้งนี้ มีสองจังหวัดที่พรรคประชาชนยังมีความสงสัย นั่นคือเชียงใหม่และสมุทรปราการ โดยเฉพาะประเด็นการมีบัตรเสียจำนวนมาก โดยทั้งผู้สมัครนายก อบจ. รวมถึงกองอำนวยการเลือกตั้งจะติดตามตรวจสอบต่อไป ซึ่งบ่ายนี้ทางพรรคประชาชนจะดำเนินการยื่นเรื่องกับ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบบัตรเสียว่ามีจำนวนถูกต้องตามที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง