เตือนรัฐบาลเกียร์ว่างคดีตากใบ อาจเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่

เตือนรัฐบาลเกียร์ว่างคดีตากใบ อาจเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่

30514 ต.ค. 67 14:48   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

“อ.ปริญญา” เตือนรัฐบาลแพทองธาร ใส่เกียร์ว่างคดีตากใบ ที่มี สส.ของพรรคหลบหนีหมายจับอยู่ อาจถูกมองละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

(14 ต.ค. 67) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยต่อกรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หลังศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับในคดีสลายการชุมนุมที่ตากใบ ใกล้จะหมดอายุความ ว่า


เหตุการณ์ที่ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 35 เป็นการเสียชีวิตของประชาชนจาก การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่ควรเกิดอีก เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนถูกลงโทษแต่ประการใด ซึ่งเหตุการณ์ตากใบก็ทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ แม้มีการให้เงินเยียวยาตอบครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บสาหัส แต่ความยุติธรรมของผู้เสียหายทั้ง 85 ชีวิต ที่ทวงถามมา 20 ปี เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องแสดงออกอะไรบางอย่าง เพราะหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของรัฐบาล


จึงต้องกำชับเรื่องนี้เพราะเหลือเวลาอีกประมาณ 10 วันเท่านั้น แล้วรัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องนี้ได้ตามความคาดหมายของประชาชนหรือไม่ สิ่งสำคัญคือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของ พล.อ.พิศาล โดยในส่วนการขึ้นศาลอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่หน้าที่ของรัฐบาลซึ่งมีอำนาจในการสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นนี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใคร เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนั้นรถคันแรกซึ่งขนมวลชนมาก็เห็นแล้วว่า มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น แต่จนกระทั่งคันสุดท้ายในการขนมวลชนกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแต่กลับไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดผู้กระทำได้


“ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นผู้บัญชา พึงกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการออกหมายแดง ประสานงานกับตำรวจประเทศอื่น ใน 10 วันนี้ถ้าหากรัฐบาลไม่ทำอะไรออกมา ตามที่ควรจะเป็นตามความคาดหวังของประชาชน หลัง 25 ต.ค.นี้จะเป็นเรื่องที่กระทบกับรัฐบาลได้ เพราะปล่อยให้อายุความขาดไปโดยไม่ทำอะไร จะจับตัวได้หรือไม่ เอามาขึ้นศาลได้หรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่รัฐบาลต้องแสดงออกว่า ได้กระทำเต็มที่แล้ว หาไม่แล้วเรื่องนี้จะถูกมองทันที และจะนำไปโยงกับกรณีของนายทักษิณ ชินวัตรด้วย ว่ามีเจตนาในการช่วยเหลือลูกน้อง หรือช่วยเพื่อนหรือไม่ ดังนั้นควรแสดงออกว่ารัฐบาลได้ดำเนินการในสิ่งที่ควรกระทำแล้ว”


เมื่อถามว่า นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่าการกระทำของ พล.อ.พิศาล เป็นความผิดส่วนตัว มองเรื่องนี้อย่างไร นายปริญญา กล่าวว่า เรื่องการต้องข้อหาและต้องขึ้นศาลนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เนื่องจาก พล.อ.พิศาล เป็นสส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น ทางพรรคควรมีการตอบคำถามว่าจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรครัฐบาลและอยู่ในช่วงของการสร้างผลงาน หลายเรื่องก็เห็นผลงานขึ้นมา ขณะนี้คะแนนนิยมของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ดีขึ้น ถ้าเรื่องนี้ไม่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาจะถูกมองทันทีว่าเป็นการช่วยผู้ต้องหา ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีของรัฐบาล จริงๆ ระยะเวลาที่เหลืออยู่ 10 วันนั้นเป็นเรื่องยากทีจะได้ตัวมาขึ้นศาล แต่สิ่งที่คนรอดูมากกว่าคือท่าทีของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย


เมื่อถามว่าในวันที่ 15 ต.ค. พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมเพื่อขับ พล.อ.พิศาล ออกจากพรรค ถือเป็นการรับผิดชอบที่เพียงพอหรือไม่ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า คงต้องรอดูท่าทีว่าพรรคเพื่อไทยจะมีมติอย่างไร ถ้าพูดอย่างไม่อ้อมค้อม พล.อ.พิศาล คงยากที่จะกลับมาทำงานทางการเมืองแล้ว เพราะถ้าลาหยุดการทำหน้าที่ของ สส. จากกรณีถูกคดีสั่งฟ้อง เหมือนว่าท่านตั้งใจที่จะหลบออกไปก่อนเพื่อรอให้คดีความหมดอายุ การกลับมาอีกครั้งหลังจากนี้ก็จะถูกตั้งคำถาม ว่าเป็น สส. แล้วทำไมถึงไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลมีหมายเรียกก็ไม่มา จนกระทั่งออกหมายจับ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีการต่อสู้คดีแต่กลับเลือกที่จะหนี ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่พักจะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร


เมื่อถามว่าในทางกฎหมาย พอจะมีทางที่จะยืดอายุความออกไปได้อีกหรือไม่ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า กฎหมายอาญาของไทยคดี ที่ทำให้มีคนเสียชีวิตจะมีอายุความ 20 ปี และจะขาดอายุความเมื่อ 1.ไม่ได้มีการฟ้องต่อศาลแต่ตรงนี้ก็ทำแล้ว ศาลรับฟ้องแล้ว 2.การเอาตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ขึ้นศาล ซึ่งส่วนนี้ทำให้มีการหลบออกไปให้พ้น วันที่ 25 ต.ค. เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 25 ต.ค ครบ 20 ปี ทำให้ในทางกฎหมายอาญา เท่ากับขาดอายุความ


ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมายแต่เป็นคำถามใหญ่ๆ ว่าจากนี้ไปประเทศไทยจะเอาอย่างไร เมื่อมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้ประชาชนเสียชีวิตเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องแสดงออกอะไรบางอย่าง จะปล่อยให้อายุความขาดไปเฉยๆ โดยบอกแต่เพียงว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ตนเกรงว่าหลัง 25 ต.ค. ไปแล้ว ผลเสียหายหรือว่าคำถาม จะกลับมาที่พรรคเพื่อไทย


ส่วนท่าทีของรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยยังไม่มีความชัดเจนหรือไม่ ที่จะนำตัว พล.อ.พิศาล กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า จริงๆ แล้วคงพูดไม่ได้ว่าจริงใจหรือไม่จริงใจ เขาอาจจะเข้าใจ จริงๆ ก็ได้ว่านี่เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ตนในฐานะอาจารย์ทางด้านกฎหมาย ก็ชี้ให้เห็นว่า พล.อ.พิศาล มีหมายเรียกให้มาขึ้นศาล การปฏิเสธหมายเรียกก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว พอไม่มาก็ออกหมายจับนี่จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องมาปรากฏตัว เพราะตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมายไทยถือว่าท่านยังบริสุทธิ์อยู่ แต่ที่ท่านหลบหนีอยู่ขณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีแปลว่าท่านมีอำนาจที่ทำอะไรบางอย่างซึ่งตนก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่คนมีความคาดหวังและหลัง 25 ต.ค.ผ่านไปแล้วอายุความขาด โดยที่รัฐบาลดูจะจริงจังน้อยไปบ้าง ผลเสียก็จะกลับมาที่รัฐบาลเอง


ผศ.ดร.ปริญญา ทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลไม่มีท่าทีชัดเจน นายกรัฐมนตรีอาจจะถูกมองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง