นายกฯ สั่งรับมือ"น้ำท่วม"ภาคใต้ ย้ำความปลอดภัยปชช.ต้องมาก่อน
นายกฯ สั่งรับมือ"น้ำท่วม"ภาคใต้ ย้ำความปลอดภัยปชช.ต้องมาก่อน
นายกฯ สั่งรับมือ"น้ำท่วม"ภาคใต้ ย้ำความปลอดภัยปชช.ต้องมาก่อน พร้อมเตรียมแผนฟื้นฟูล่วงหน้า
(27พ.ย.67) เวลา 15.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม(ศปช.) เปิดเผยว่า ศปช.ได้ออกประกาศเตือนฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าจะมีฝนตกหนักไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยงข้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงวันอาทิตย์ที่ 24 ที่ผ่านมานี้ ถึงวันที่ 4 ธ.ค. 67 ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม และเฝ้าระวัง น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำใน จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ของจังหวัดภาคใต้ ซึ่งได้สั่งการให้ ศปช. ทำตามแผน ที่วางกำลังไว้ พร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่ ศปช.รายงานเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะมีฝนตกหนัก และให้เร่งฟื้นฟูพร้อมทั้งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อนำมารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรัฐบาลจะได้แก้ไขและเยียวยาได้ทันท่วงทีโดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการสัญจรต่าง ๆ ใน จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ 2 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ทั้งในเขตตัวเมืองและอำเภอต่าง ๆ ที่มีน้ำท่วม ดินสไลด์ และเสาไฟฟ้าหักโค่น
"ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่รวมถึงกำลังพลที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือและดูแลประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพราะสิ่งสำคัญสูงสุดคือความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน" นายกฯ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รายงานผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมว่าเมื่อเวลา 08.55 น.ระหว่างสถานีไม้แก่น - รามัน มีปริมาณฝนตกหนัก บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 1055/8-9 ตรวจพบน้ำเซาะใต้ท้องหมอน ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถส่งผลกระทบในการเดินรถในขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก - สุราษฎร์ธานี , ขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพอภิวัฒน์ - สุไหงโกลก , ขบวนรถด่วนพิเศษ 37 กรุงเทพอภิวัฒน์ - สุไหงโกลก
"ทั้งนี้ศูนย์ความปลอดภัย รฟท.รายงานว่าเตรียมหินโรยทาง จำนวน 12 คันรถและรถบำรุงทางหนักเข้าซ่อมแซมแก้ไขโดยด่วน คาดการณ์ว่าหากฝนหยุดตก และระดับน้ำลดลง จะสามารถเข้าซ่อมแซมและเปิดการเดินรถตามปกติ" นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานอย่าง สทนช. ซึ่งเป็นคณะกรรมการของ ศปช. ที่บูรณาการ ดูแลเรื่องของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งตัวแปรสำคัญ ทางธรรมชาติ ที่มีฝนตกสะสมนานกว่า 24 ชั่วโมง บางแห่งมีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงถึง 200 มิลลิเมตร
"ซึ่งการให้ความช่วยเหลือประชาชนของเจ้าหน้าที่ในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบของ ศปช.ของรัฐบาล ซึ่งแม้จะผ่านเข้าสู่หน้าหนาวแต่ยังมีคำสั่งให้คงไว้ทำให้การบริหารสั่งการ ทันต่อสถานการณ์" นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวต่อไปอีกว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการ ศปช. หารือในที่ประชุมว่า ในระยะยาวการบริหารแผนที่ผังน้ำของประเทศไทย จะต้องถูกนำมาใช้ควบคู่กับผังเมือง ที่จะต้องมีการออกแบบและพัฒนาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มักจะเกิดน้ำท่วมแบบฉับพลันแต่กินระยะเวลาไม่ยาวนาน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปสำรวจความเสียหายและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ปภ.เตือน 13 จว.ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ตั้งแต่ 27 พ.ย. - 4 ธ.ค. 67
- น้ำท่วมหาดใหญ่แล้ว! หนักสุดที่เทศบาลเมืองคอหงส์ บ้านเรือนประสบภัยแล้วประมาณ 500 ครัวเรือน
- นราธิวาสอ่วม น้ำท่วมหนักกลางดึก
- ด่วน! กรมอุตุฯ เตือน 5 จว.ภาคใต้ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน หลังฝนถล่มหนัก