เปิดฉายาจากสื่อทำเนียบฯ ประจำปี 67 รัฐบาล “พ่อ” เลี้ยง - แพทองโพย
เปิดฉายาจากสื่อทำเนียบฯ ประจำปี 67 รัฐบาล “พ่อ” เลี้ยง - แพทองโพย
เปิดฉายาจากผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบในปี 2567 ยกรัฐบาลเป็น “รัฐบาล ‘พ่อ’ เลี้ยง” ส่วนนายกฯ ได้ฉายา “แพทองโพย” - วาทะแห่งปี “สามีเป็นคนใต้”
(23 ธ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล โดยปราศจากอคติส่วนตัว ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล จึงมีมติร่วมกันตั้งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี และวาทะแห่งปี ประจำปี 2567 ดังนี้
ฉายารัฐบาล รัฐบาล“พ่อ“เลี้ยง
ด้วยความเป็น “พ่อ” ของหัวหน้ารัฐบาล ยี่ห้อ "ทักษิณ ชินวัตร" ขึ้นชื่อดีกรีความรักลูกไม่น้อยหน้าใคร ทั้งปกป้อง เลี้ยงดู อุ้มชู ปูทาง จนได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ เป็นลูกไม้หล่นใต้ต้น ที่มี DNA
เดียวกันเป๊ะ จนไม่พ้นเสียงครหา รัฐบาลนี้ "พ่อคิด ลูกทำ"
และไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูลูกในสนามการเมืองเท่านั้น ยังลามไปถึงวาทะเลี้ยง "มาม่า" พรรคร่วมรัฐบาล ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า จนสะเทือนเลื่อนลั่น สะท้อนบทแบ็กอัพที่ไม่ใช่เลี้ยงลูกตัวเองเท่านั้น แต่เลี้ยงรัฐบาลให้เดินอยู่ในรอยด้วย
1.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ฉายา แพทองโพย
ล้อมาจากชื่อของนายกฯ “แพทองธาร” กับประเด็นดรามา “ไอแพด” คู่ใจ โพยยุคไอที ถือติดมือได้ทุกที่ เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว พกโพยเครื่องเดียวอ่าน จด โหลดข้อมูลเสร็จสรรพ จนเกิดเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมเมื่อยกขึ้นอ่าน ระหว่างพบผู้นำ แขกต่างชาติ กลายเป็นประเด็นตอบโต้เผ็ดร้อนกับชาวเน็ต และตอกย้ำแบบโนสนโนแคร์ด้วยภาพชูไอแพดคู่ใจ ระหว่างร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือแม้แต่ยกไอแพด ขึ้นอ่านแถลงข่าวการระบายน้ำภาคเหนือ ลงสู่แม่น้ำโขง จนถูกวิจารณ์ยกใหญ่
2.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ฉายา สหายใหญ่ใส่บู๊ต
จาก “สหายใหญ่” ในเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 วันนั้น สู่ “บิ๊กอ้วน” แห่งกองทัพไทยในวันนี้ ปรับโฉมกุนซือการเมือง มายกมือตะเบ๊ะ เสื้อตึงเป๊ะ ใส่ “ท็อปบูต” นั่งเก้าอี้กลาโหม จากที่เคยอยู่กันคนละฝั่ง วันนี้ต้องคุมบังเหียนมาทำงานร่วมกับเหล่าทหาร ส่งท้ายปีจับมือท็อปบู้ตพากันลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม และยังต้องรับบทหนัก ถึงหนักมาก คอยระวังหลังให้กับ “นายกฯอิ๊งค์” อีกด้วย
3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ฉายา ภูมิใจขวาง
นอกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คนที่ 3 ยังสวมหมวกหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ทำงาน 3 เดือนใน “รัฐบาลแพทองธาร” สร้างสีสันจากบุคลิกและสไตล์การพูดหยิกแกมหยอก พร้อมสโลแกนขอทำงานไม่ขัดแย้งใคร แต่นับจากลงเรือร่วมรัฐบาล มียกมือค้านทั้งร่างกฎหมายสกัดรัฐประหาร ของสส.พรรคแกนนำ ล่าสุดโหวตสวนร่างพ.ร.บ.ประชามติ เห็นต่างจาก พรรครัฐบาล ต้องจับตาบทบาทจากนี้ “รมต.หนู” จะปล่อยของ โชว์ลีลา สร้างผลงาน ให้ประทับใจอย่างไร
4. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาครองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ฉายา พีระพัง
พังอุดมการณ์จากพรรคขั้วตรงข้าม “ชินวัตร” ตกลงปลงใจมาจับมือร่วมรัฐบาล “นายกฯอิ๊งค์” คว้าเก้าอี้รัฐมนตรีคุมกระทรวงใหญ่ ถูกคาดหวังจะมาแก้ปมเรื่องพลังงาน ให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำมันถูกลง เจ้าตัวยังหมายมั่นปั้นมือประกาศแก้กฎหมายรื้อโครงสร้างภาษีน้ำมัน จนเปลี่ยนหัวหน้ารัฐบาลแล้ว ก็ยังไม่ชัดเจน หรือจะซุ่มทำเงียบๆ งานนี้สังคมช่วยลุ้นจะทำได้ทันรัฐบาลนี้ หรือจะพังพับไปก่อน
ด้านงานการเมืองยุค “หัวหน้าพี” คุมบังเหียน “รวมไทยสร้างชาติ” ดูยิ่งโลว์โปรไฟล์ จัดกิจกรรมพรรคได้เงียบกริบตามสไตล์ จนเกิดกระแสข่าวรอยร้าวภายใน ถูกจับจ้องถึงสัมพันธภาพกับลูกพรรค จะกอดคอรักกันนานแค่ไหน
5.พ.ต.อ.ทวี สอดส่องรมว.ยุติธรรม ฉายา ทวีไอพี
ล็อกเป้าคุมเก้าอี้กระทรวงยุติธรรม เรียกได้ว่าเลื่อยขาเก้าอี้ไม่มีสั่น ไม่บอกก็รู้ว่า “นายใหญ่” ไว้ใจแค่ไหน นับตั้งแต่ภารกิจพานายใหญ่กลับบ้าน ถึงอีพี 2 ส่งนายใหญ่ขึ้น “ชั้น 14” ครองเตียง “วีไอพี” แทนนอนเรือนจำถึงได้พักโทษ ทำให้สังคมมองว่าเป็นนักโทษวีไอพี ต่อเนื่องที่เร่งออกระเบียบคุมตัวนอกเรือนจำ เสียงลือ แซ่ดเตรียมปูทางสำหรับ “วีไอพีหญิง” ตามรอยพี่ชายหรือไม่ เมื่อเดินงานเข้าตา พ.ต.อ.ทวี น่าจะถือบัตรวีไอพี ยึดเก้าอี้รัฐมนตรี ไปอีกยาว
6.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉายา ประชาธิเป๋
แปะยี่ห้อ “ประชาธิปัตย์” รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค ประกาศพาค่ายสะตอกลับมายิ่งใหญ่ ไปๆมาๆ พลิกหนีบทฝ่ายค้าน ไม่ติดอดีต ไม่ฟาดฟันทางการเมือง กลืนอุดมการณ์คู่ปรับนับทศวรรษกับ “เพื่อไทย” กระโดดมาร่วมรัฐบาล เดินเป๋จากเส้นทางอุดมการณ์กว่า 70 ปี จนได้ตั๋วคุมงานกระทรวงใหญ่ แต่ผลงาน ได้เห็นเค้าแค่ลางๆยังไม่ชัดเจน
7.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ฉายา รวม(เพื่อ)ไทยอ้างชาติ
เรื่องจริงหรือฝัน ทำบรรดาแม่ยก แทบไม่เชื่อสายตา ว่า “ขิง เอกนัฏ” คีย์แมน รทสช.ต้องยอมทำเพื่อชาติ ประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เคลียร์ประเด็นคุณสมบัติคนเคยมีคดี ก่อนนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแบบใสๆ ภายใต้การนำของ"คนชินวัตร“ลั่นในใจไม่ลบ ไม่เคยลืมอดีต ก่อนยกวาทะเด็ด “ต้องทำงานโดยคิดถึงบ้านเมืองเป็นหลัก ถ้าคิดถึงบ้านเมือง ก็ทำงานร่วมกันได้” ทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง เร่งโชว์ผลงานเดินเครื่องกวาดล้างโรงงานเถื่อน สารเคมีอันตราย ให้เข้าตาประชาชน
8.น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฉายา จิราพอ(ล)
จาก สส.รุ่นใหม่ดาวเด่นในสภา พูดจาฉะฉาน ถูกคาดหวังจะเฉิดฉายเมื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ช่วยปรับโฉมงานของรัฐบาล เพราะคุมทั้งสื่อรัฐ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ. )แต่งานกลับเดินไปเนิบๆ สังคมมาถึงบางอ้อว่า รมต.น้ำ นั่งคุมสคบ.จากคดีดัง “ดิไอคอน กรุ๊ป”และ “บอสพอล” ถึงได้จังหวะโชว์ผลงาน ทั้งที่ขึ้นชั้นรมต.มาตั้งแต่ปลายรัฐบาลเศรษฐา จนถูกตั้งคำถามเรื่องการทำงาน ขึ้นปีใหม่จะเร่งเครื่องไปต่อ หรือพอใจจะทำงานเงียบๆ แบบสโลไลฟ์
กลุ่ม “รมต.โลกลืม”
นายสุชาติ ชมกลิ่นรมว.พาณิชย์
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช. พาณิชย์
ทั้ง 3 คน มีบทบาท ได้คุมกระทรวงเกรดเอ ทั้งเรื่องการค้าและการศึกษา ผ่านเก้าอี้รมต.ที่เป็นประตูปูทาง
สร้างงานให้โดดเด่นได้ แต่ผลงาน3 เดือนในรัฐบาล กลับไม่เปรี้ยงแต่เงียบกริบ จนประชาชนเรียกหาให้สตาร์ทเครื่อง ตีปี๊บผลงาน รับศักราชใหม่ สลัดครหารัฐมนตรีโลกลืม
วาทะแห่งปี “สามีเป็นคนใต้”
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในระหว่างการลงพื้นติดตามการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2567 ซึ่งถูกตั้งคำถามจากสังคม เปรียบเทียบการลงพื้นที่เพื่อฟื้นฟูภาคเหนือของนายกฯแต่อาจละเลยพี่น้องภาคใต้ ที่ถูกน้ำท่วม
นายกฯชี้แจงย้ำหนักแน่น ไม่ได้ละเลยคนใต้ ด้วยประโยคว่า “โอ้ คำว่าละเลยภาคใต้ สามีเป็นคนใต้ ครอบครัวสามีเป็นคนใต้ ถ้าละเลยคนใต้ ไม่รักคนใต้ แต่งงานคนใต้ไม่ได้นะคะ”ยืนยันคำตอบจากใจ ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับประชาชนภาคใด เพราะเป็นนายกฯของคนทั้งประเทศ
คำตอบของนายกฯยังไม่ใช่เหตุผลที่ตรงใจชาวโซเชียล จึงไม่วายถูกตั้งข้อสงสัยว่าเหตุที่ไม่ลงใต้ เพราะภาคใต้ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ไร้ที่นั่งสส.มานาน ถึงกับถามย้ำๆขอฟังชัดๆ จะลงใต้เมื่อไหร่ กระทั่งนายกฯกลับจากเยือนประเทศมาเลเซีย ช่วงฝนเทภาคใต้รอบสอง จึงเปลี่ยนใจ บินลงพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 17 ธ.ค.2567 จากที่ตั้งใจจะลงไปในช่วงการฟื้นฟู
ขึ้นศักราชใหม่ หัวหน้ารัฐบาลประกาศ “โอกาสไทย ทำได้จริง” เป็นคำมั่นที่ประชาชน รอติดตาม